[คำที่ ๕๔๒] อปริสุทฺธ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ม.ค. 2565
หมายเลข  41912
อ่าน  470

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อปริสุทฺธ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อปริสุทฺธ อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - ปะ - ริ - สุด - ทะ มาจากคำว่า น (ไม่) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า ปริสุทฺธ (สะอาด, บริสุทธิ์) รวมกันเป็น อปริสุทฺธ หมายถึง ไม่สะอาด, ไม่บริสุทธิ์ มีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ในที่นี้จะมุ่งหมายถึง อกุศลธรรมทั้งหมดซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ไม่ผ่องใส ซึ่งเมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้ ก็ยังเป็นผู้มีสิ่งสกปรก ไม่สะอาด ความไม่สะอาด ไม่ใช่อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นเรื่องของอกุศลธรรมที่อยู่ภายในจิตใจเท่านั้น ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะดูสกปรกหรือสะอาด แต่ถ้าอกุศลธรรมเกิดเมื่อใด ก็ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ตามข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตร ดังนี้

“ก็สัตว์ทั้งหลาย แม้อาบน้ำดีแล้ว ก็ชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมองนั่นแล แต่ว่า แม้ร่างกายจะสกปรก ก็ชื่อว่าผ่องแผ้วได้ เพราะจิตผ่องแผ้ว”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จุนทสูตร แสดงความเป็นจริงว่า ความไม่สะอาด ได้แก่ ความไม่สะอาดทางกาย ๓ (ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม) ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ (พูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ) ความไม่สะอาดทางใจ ๓ (เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น, พยาบาทปองร้ายผู้อื่น, มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง)


แต่ละบุคคลที่เกิดมานั้น ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป และถ้ามีกำลังมากก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นต้น และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมอกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสซึ่งได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็จะค่อยๆ เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วชีวิตประจำวันจะเป็นไปกับอกุศลธรรมมากทีเดียว ด้วยโลภะ (ความติดข้อง) บ้าง โทสะ (ความโกรธ, ความขุ่นเคืองใจ) บ้าง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล (คือเว้นในสิ่งที่ควรเว้นและประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ) และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ ความไม่สะอาดเกิดแล้วในขณะที่จิตเป็นอกุศล

เป็นธรรมดาที่ว่า เมื่อได้เหตุปัจจัยอกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะโกรธมากๆ ก็ได้ มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาตามอำนาจของกิเลส เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสนั่นเอง นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลจิตด้วย โอกาสของกุศลน้อยมาก ถ้าเทียบกับขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่มีความเข้าใจอะไรเลย

ตามความเป็นจริง อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์โทษภัยมาให้ในภายหลังเท่านั้น ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนเดือดร้อน อยู่ไม่เป็นสุขเพราะอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เช่น โลภะ ความติดข้อง โมหะ ความหลง ความไม่รู้ เป็นต้น ซึ่งเป็นความไม่สะอาดของจิตใจ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส และถ้ามีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่า เร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำอกุศล และเร่าร้อนทั้งในขณะที่ได้รับผลของอกุศลนั้นๆ ด้วย โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศล ย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย เป็นจิตคนละประเภทกัน แต่จะมีสภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่ผ่องใส เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นโอกาสที่หาได้ยากอย่างยิ่ง เมื่อมีโอกาสได้ฟังแล้ว มีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ที่สำคัญต้องเป็นผู้ตรง แม้แต่ในการศึกษาพระธรรม ก็เพื่อขัดเกลากิเลส แล้วการที่จะขัดเกลาได้ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเอาอกุศลที่สะสมมาในจิตของตัวเองออกทิ้งหมดไปได้เลย นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ที่เข้าใจว่าได้ อยู่ที่ไหน ใครได้อะไรบ้าง ก็เพียงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตื่นเต้น ดีใจ สุขทุกข์กับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แล้วอยู่ที่ไหน ทั้งหมดนั้นอยู่ที่ไหน ตลอดชีวิตอยู่ที่ไหน จบไปไม่เหลือเลย แล้วยังได้สะสมสิ่งที่น่ารังเกียจ คือ อกุศลธรรมมากมายมหาศาลต่อไปอีก จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้เข้าใจพระธรรม แล้วรู้จุดประสงค์ของการฟังว่า เพื่อละคลายกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่สกปรก ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ในจิตใจของตนเอง

เพราะฉะนั้น จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้ ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาดในจิตใจของตนเองให้เบาบาง ตามความเจริญขึ้นของปัญญา จนกว่าจะถึงการดับได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ เติมปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดลงใจจิต สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 13 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ