จริงใจในการขัดเกลากิเลส

 
khampan.a
วันที่  20 ม.ค. 2565
หมายเลข  41953
อ่าน  403

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๖๒๕]

จริงใจในการขัดเกลากิเลส


พระภิกษุ : สัจจะบารมี อาตมาเข้าใจว่า ในขณะที่รู้สึกว่ามีการที่จะกระทำสิ่งที่เป็นพระธรรมซึ่งเป็นความถูกต้อง แล้วก็กล้าที่จะกระทำในขณะนั้น ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนหรืออย่างไร จะให้โยมอาจารย์อธิบายให้ละเอียด

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : สัจจะ คือ ความจริงใจ ไม่หลอกลวงตัวเองและบุคคลอื่น ต้องเป็นความจริงใจ เป็นสัจจะ เป็นความจริง ท่านที่ศึกษาพระธรรมมีความจริงใจที่จะศึกษาเพื่อเข้าใจพระธรรม นั่นเป็นสัจจะ เป็นความจริงใจ แต่ถ้าศึกษาเพื่อเหตุอื่น คือ เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสักการะ ขณะนั้นไม่ใช่ความจริงใจในการศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นสัจจะบารมี

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ศึกษาพระธรรม ก็ควรที่จะได้พิจารณาจุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาว่า มีความจริงใจต่อการที่จะเข้าใจพระธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี่คือสัจจะบารมี คือ ถ้าเป็นบารมีแล้วหมายความว่า ต้องเพื่อให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลส และเมื่อมีสัจจะบารมีแล้วก็มีความมั่นคง คือ อธิษฐานบารมี ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไม่ว่าสักการะจะมี ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติดในสักการะ แต่รู้ว่าจุดประสงค์ของการศึกษาเพื่อละความเป็นตัวตน ไม่ใช่เพิ่มความเป็นตัวตน เพราะมีผู้สักการะ นี่จึงจะเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวในสัจจะ ในความจริงใจ

พระภิกษุ : จริงใจที่จะเจริญธรรม นั้นๆ

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : (เป็นผู้ที่จริงใจ) ที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วก็ไม่รู้สึกตัว แล้วก็ไม่ยอมที่จะมีเมตตา แล้วก็ยังคงจะโกรธต่อไป แต่ถ้านึกขึ้นมาได้ขณะใด ขณะนั้นก็สามารถที่จะเป็นสัจจะบารมีได้ตรงที่ว่าศึกษาธรรมเพื่อละความโกรธ เห็นโทษของความโกรธ เห็นประโยชน์ของเมตตาบารมี ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเจริญต่อไปได้ เพราะเหตุว่าศึกษาทำไม ทุกท่านศึกษาทำไม และเมื่อความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธมีปัจจัยก็เกิด แต่ว่าสติอย่างละเอียดพิจารณาได้ไหมว่า ไม่มีประโยชน์ การโกรธไม่มีประโยชน์กับใครเลย การรังเกียจบุคคลอื่นในกาย วาจาของบุคคลอื่น ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าสติไม่เกิดอย่างละเอียด ก็จะไม่เห็นว่า กายวาจาของบุคคลอื่น ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นนั้น ไม่ใช่เหตุอันแท้จริงที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด แต่เหตุอันแท้จริง คือ การสะสมอกุศลของตนเอง แล้วไม่เห็นโทษของอกุศล แล้วไม่จริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม สละความโกรธทันทีได้ แล้วเมตตาก็เกิดได้ทันที นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้ายังไม่เป็นอย่างนี้ ก็จะมีความโกรธ และไม่สามารถที่จะขจัดความโกรธหรือว่าบรรเทาความโกรธนั้นได้ เพราะฉะนั้นเมตตาบารมีก็จะไม่มีทางจะเจริญได้


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 22 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เฉลิมพร
วันที่ 22 ม.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ