ถูกตัดไฟ
ถูกตัดไฟ เนื่องจากค้างค่าไฟอยู่ ๖ สตางค์ เพราะความเข้าใจผิดเองคือ ปกติจะจ่ายค่าไฟเกินอยู่แล้ว คิดว่าทางการไฟฟ้าน่าจะนำไปหักออก แต่ปรากฎว่านำไปหักของเดือนที่จะจ่ายต่อไป ทำให้เราค้างค่าไฟอีก จึงถูกตัดไฟทำให้เราเดือดร้อน กรณีนี้แสดงว่าผู้ที่สั่งให้คนไปตัดไฟนั้น ผิดธรรมข้อใด เพราะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยไม่ได้พิจารณาตามความเหมาะสม
มองในแง่หนึ่งก็คือ ขาดเมตตา เพราะจำนวนเงินเพียงแค่ ๖ สตางค์นั้น แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นผู้ที่ตรงต่อหน้าที่ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ไม่มีข้อยกเว้น เพราะผู้ใช้ไฟฟ้ามีเป็นล้านหลังคาเรือน จึงเป็นความรับผิดชอบของทุกท่าน ถือว่าเป็นบทเรียนแล้วกันนะคะ ต่อไปจะได้ไม่ประมาท
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การศึกษาธรรมก็ต้องเริ่มจากการขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ถ้าเราไปคิดถึงคนอื่นว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น ทำไมเขาทำอย่างนี้ อกุศลก็จะเกิดกับเราได้ง่าย ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้นเพราะเป็นธรรม การที่เราถูกตัดไฟ ไม่ได้รับความสะดวก เราอาจจะโทษคนอื่น ว่า ... แต่ความจริงแล้วเมื่อมองตามความเป็นจริง ทุกอย่างต้องมีเหตุคือ การทำกุศลหรือ อกุศลของเรานั่นเอง ดังนั้น การคิดพิจารณาที่ถูกคือ เข้าใจตามความเป็นจริง ว่าไม่มีใครทำให้แต่เป็นธรรมต่างหาก ถึงแม้การคิดอย่างนี้จะเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อมีการอบรมการฟังธรรม แม้ขั้นการฟังจนเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร จิตก็ย่อมน้อมไปในความเข้าใจในเรื่องที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรมครับ อบรมได้ครับ ด้วยการฟังธรรมในเรื่อง สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เมื่อนั้นเราก็จะไม่โทษคนอื่น และก็ไม่โทษตัวเองด้วย มีแต่ธรรมเท่านั้น แล้วจะโทษใคร จิตก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้ครับ (ทุกอย่างอบรมได้ทีละเล็กทีละน้อย) จะยกข้อความในพระไตรปิฎก ลองอ่านดูนะ
เรื่อง จะโทษใครดี?
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 50
ข้อความบางตอนจาก เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงสกุลนายช่างแก้ว
ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉัน (ภัต) อยู่ในสกุลของนายมณีการผู้หนึ่งสิ้น ๑๒ ปี. ภรรยาและสามีในสกุลนั้นตั้งอยู่ในฐานะเพียงมารดาและบิดาปฏิบัติพระเถระแล้ว.อยู่มาวันหนึ่ง นายมณีการกำลังนั่งหั่นเนื้อข้างหน้าพระเถระ. ในขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงส่งแก้วมณีดวงหนึ่งไป ด้วยรับสั่งว่า "นายช่างจงจัดและเจียระไนแก้วมณีนี้แล้วส่งมา. " นายมณีการรับแก้วนั้นด้วยมือทั้งเปื้อนโลหิต วางไว้บนเขียงแล้ว ก็เข้าไปข้างในเพื่อล้างมือ.
แก้วมณีหายนายช่างสืบหาคนเอาไป ก็ในเรือนนั้น นกกะเรียนที่เขาเลี้ยงไว้มีอยู่. นกนั้นกลืนกินแก้วมณีนั้น ด้วยสำคัญว่าเนื้อ เพราะกลิ่นโลหิต เมื่อพระเถระกำลังเห็นอยู่เทียว. นายมณีการมาแล้ว เมื่อไม่เห็นแก้วมณีจึงถามภริยา ธิดาและบุตรโดยลำดับว่า " พวกเจ้าเอาแก้วมณีไปหรือ? " เมื่อชนเหล่านั้นกล่าวว่า " มิได้เอาไป " จึงคิดว่า " (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป จึงปรึกษากับภริยาว่า " แก้วมณี (ชะรอย) พระเถระจักเอาไป " ภริยาบอกว่า " แน่ะนาย นายอย่ากล่าวอย่างนั้น. ดิฉันไม่เคยเห็นโทษอะไรๆ ของพระเถระเลยตลอดกาลประมาณเท่านี้. ท่านย่อมไม่ถือเอาแก้วมณี (แน่นอน) ."นายมณีการถามพระเถระว่า " ท่านขอรับ ท่านเอาแก้วมณีในที่นี้ไปหรือ? " พระเถระ. เราไม่ได้ถือเอาดอก อุบาสก.
นายมณีการ. ท่านขอรับ ในที่นี้ไม่มีคนอื่น. ท่านต้องเอาไปเป็นแน่, ขอท่านจงให้แก้วมณีแก่ผมเถิด. เมื่อพระเถระนั้นไม่รับ, เขาจึงพูดกะภริยาว่า " พระเถระเอาแก้วมณีไปแน่, เราจักบีบคั้นถามท่าน. " ภริยาตอบว่า " แน่ะนาย นายอย่าให้พวกเราฉิบหายเลย, พวกเราเข้าถึงความเป็นทาสเสียยังประเสริฐกว่า, ก็การกล่าวหาพระเถระผู้เห็นปานนี้ไม่ประเสริฐเลย. "
ช่างแก้วทำโทษพระติสสเถระเพราะเข้าใจผิด
นายช่างแก้วนั้นกล่าวว่า " พวกเราทั้งหมดด้วยกัน เข้าถึงความเป็นทาส ยังไม่เท่าค่าแก้วมณี " ดังนี้แล้ว จึงถือเอาเชือกพันศีรษะพระเถระขันด้วยท่อนไม้. โลหิตไหลออกจากศีรษะหูและจมูกของพระเถระ. หน่วยตาทั้งสองได้ถึงอาการทะเล้นออก, ท่านเจ็บปวดมาก ก็ล้มลง ณ ภาคพื้น. นกกะเรียนมาด้วยกลิ่นโลหิต ดื่มกินโลหิต.
ช่างแก้วเตะนกกะเรียนตายแล้วจึงทราบความจริง
ขณะนั้น นายมณีการจึงเตะมันด้วยเท้าแล้วเขี่ยไปพลางกล่าวว่า " มึงจะทำอะไรหรือ? " ด้วยกำลังความโกรธที่เกิดขึ้นในพระเถระ. นกกะเรียนนั้นล้มกลิ้งตายด้วยการเตะทีเดียวเท่านั้น. พระเถระเห็นนกนั้น จึงกล่าวว่า " อุบาสก ท่านจงผ่อนเชือกพันศีรษะของเราให้หย่อนก่อนแล้ว จงพิจารณาดูนกกะเรียนนี้ (ว่า) มันตายแล้วหรือยัง?" ลำดับนั้น นายช่างแก้วจึงกล่าวกะท่านว่า "แม้ท่านก็จักตายเช่นนกนั่น."
พระเถระตอบว่า "อุบาสก แก้วมณีนั้น อันนกนี้กลืนกินแล้ว. หากนกนี้จักไม่ตายไซร้, ข้าพเจ้าแม้จะตาย ก็จักไม่บอกแก้วมณีแก่ท่าน."
ช่างแก้วได้แก้วมณีคืนแล้วขอขมาพระติสสเถระ
เขาแหวะท้องนกนั้นพบแก้วมณีแล้ว งกงันอยู่ มีใจสลด หมอบลงใกล้เท้าของพระเถระ กล่าวว่า " ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอดโทษแก่ผม, ผมไม่รู้อยู่ ทำไปแล้ว." พระเถระ. อุบาสก โทษของท่านไม่มี. ของเราก็ไม่มี มีแต่โทษของวัฏฏะเท่านั้น. เราอดโทษแก่ท่าน.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรม แม้แต่การเห็นขณะนี้ ได้ยินขณะนี้ ถ้าได้รับสิ่งที่ดีๆ ก็เป็นผลของกุศลวิบาก แต่ถ้าได้รับสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทำให้เราไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกอย่าง ที่สำคัญไม่ประมาทการฟังธรรมค่ะ เพราะถ้าเรารู้ทุกขณะเป็นผลของกรรม เราจะไม่โทษใครเลย เป็นโทษของวัฏฏะค่ะ
อนุโมทนาค่ะ อ่านแล้วรู้สึกดีมากนะค่ะแต่สะเทือนใจ อยากร้องไห้ค่ะ