ต้องคดี บวชได้หรือไม่

 
nontacha
วันที่  25 ม.ค. 2565
หมายเลข  41970
อ่าน  915

เรียนถามอาจารย์ครับว่า ผู้ขอบวชต้องคดีสามารถบวชได้หรือไม่ และในพระวินัยบัญญัติมีกล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่ต้องคดี ไม่สามารถบวชได้ครับ ตามพระวินัยบัญญัติ

พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 339
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงบรรพชาคนมือด้วน. . .ไม่พึงบรรพชาคนเท้าด้วน. . .ไม่พึงบรรพชาคนทั้งมือและเท้าด้วน. .. ไม่พึงบรรพชาคนหูขาด . . .ไม่พึงบรรพชาคนจมูกแหว่ง. . .ไม่พึงไม่บรรพชาคนทั้งหูขาดทั้งจมูกแหว่ง. . .ไม่พึงบรรพชาคนนิ้วมือนิ้วเท้าขาด . . .ไม่พึงบรรพชาคนง่ามมือง่ามเท้าขาด . . . ไม่พึงบรรพชาคนเอ็นขาด . . . ไม่พึง
บรรพชาคนมือเป็นแผ่น. . .ไม่พึงบรรพชาคนค่อม. . .ไม่พึงบรรพชาคนเตี้ย. . .ไม่พึงบรรพชาคนคอพอก. . .ไม่พึงบรรพชาคนถูกสักหมายโทษ. . .ไม่พึงบรรพชาคนมีรอยเฆี่ยนด้วยหวาย . . .ไม่พึงบรรพชาคนถูกออกหมายสั่งจับ. . .ไม่พึงบรรพชาคนเท้าปุก. . .ไม่พึงบรรพชาคนมีโรคเรื้อรัง. . .ไม่พึงบรรพชาคนมีรูปร่างไม่สมประกอบ . . .ไม่พึงบรรพชาคนตาบอดข้างเดียว . . .ไม่พึงบรรพชาคนง่อย . . .ไม่พึงบรรพชาคนกระจอก. . .ไม่พึงบรรพชาคนเป็นโรคอัมพาต . . ไม่พึงบรรพชาคนมีอิริยาบถขาด . . ไม่พึงบรรพชาคนชราทุพพลภาพ . . .ไม่พึงบรรพชาคนตาบอดสองข้าง . . . ไม่พึงบรรพชาคนใบ้. . .ไม่พึงบรรพชาคนหูหนวก. . .ไม่พึงบรรพชาคนทั้งบอดและใบ้. . .ไม่พึงบรรพชาคนทั้งบอดและหนวก. . . ไม่พึงบรรพชาคนทั้งใบ้และหนวก. . .ไม่พึงบรรพชาคนทั้งบอดใบ้และหนวก รูปใดบรรพชาให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
บุคคลไม่ควรให้บวช ๓๒ จำพวก จบ


คำว่า “บวช” เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้ มาจากภาษาบาลี "ปพฺพชฺชา” ซึ่งหมายถึงบรรพชา มีรากศัพท์มาจาก ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว และ วช (วะชะ) แปลว่า เว้น มาเป็นคำว่า “บรรพชา” แล้วกลายมาเป็นคำว่า “บวช” ในที่สุด

คำว่า “ปพฺพชฺชา” หรือ “บรรพชา” แปลว่า เว้นทั่ว หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง หรือ หมายถึง ออกไป คือ ออกไปจากธุระการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์ ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา จะได้นามว่า พระบ้าง ภิกษุบ้าง บรรพชิตบ้าง

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวช จึงไม่ใช่เพื่อหนีคดี หรือรู้สำนึกที่ทำผิด หรือ ตอบแทนพระคุณมารดา บิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่) ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส นี่คือจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวชครับ ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวชครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้ที่มีคดีความ บวชไม่ได้ ผู้ที่ให้บวช คือ พระอุปัชฌาย์ ก็ต้องมีโทษ คือ ผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนั้น พระพุทธศาสนา บริสุทธิ์สะอาดอย่างยิ่ง แม้ผู้ที่จะบวช ก็ต้องเป็นผู้ตรง ว่า บวชเพื่ออะไร และที่สำคัญ ตนเองมีคุณสมบัติที่เหมาะควรที่จะดำรงอยู่ในเพศที่สูงยิ่งได้หรือไม่ ถ้ายังมีคดีความอยู่ แล้วไปบวช ก็แสดงว่า ไม่ได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่าบวช คืออะไร เพื่ออะไร ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lada
วันที่ 26 ม.ค. 2565

ไม่พึงบรรพชาคนกระจอกหมายถึงอะไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 27 ม.ค. 2565

เรียนความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

คนกระจอกในที่นี้ มุ่งหมายถึง บุคคลผู้มีเท้าผิดปกติ เช่น ไม่ได้เดินอย่างคนปกติทั่วไป แต่เดินด้วยหลังเท้า เป็นต้น เพราะเท้าผิดปกติ บุคคลผู้มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย ย่อมทำให้หมู่คณะของพระภิกษุดูไม่งาม พระสัมมาสัมมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธบัญญัติว่า ไม่ควรให้การบวชกับบุคคลประเภทนี้ ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
lada
วันที่ 28 ม.ค. 2565

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ