ความคิดเป็นกรรมหรือไม่?

 
Nuchareeya
วันที่  5 ก.พ. 2565
หมายเลข  42005
อ่าน  1,439

คำถามจาก คุณณัฐวัสส์ จารุรัตน์พงศ์

การที่เราจะทำอะไรพูดอะไรเกิดจากความคิดใช่ไหมครับ แล้วร่างกายที่ขยับไปพูดไปเป็นผลจากความคิด แสดงว่าคิดเป็นกรรม ร่างกายที่ขยับไปเสียงพูดเป็นวิบาก ใช่ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะที่คิด เป็นธรรมที่มีจริงเป็น จิต ที่คิด คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จากการได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รวมไปถึงในขณะที่ฝันด้วย ดังนั้น ขณะที่คิด อะไรที่มีจริง ก็ต้องเป็น จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้อง มีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก ด้วย) ส่วนเรื่องราวที่ จิต คิดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรมและนามธรรม แต่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่จิตรู้ เรื่องราวจึงเป็น อารมณ์ของจิต ที่กำลังคิดในขณะนั้น ซึ่งก็จะเข้าใจไปถึงคำว่า อารมณ์ ด้วย เพราะสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้สิ่งนั้นเป็น อารมณ์ ของจิต

คิดดี เป็นกุศลจิต เป็นต้น เป็นกุศลกรรม คิดไม่ดี มี อกุศลจิต เป็นอกุศลกรรม เมื่อคิดดี หรือ ไม่ดี มีการขยับ มีการแสดงออกทางกาย วาจา ขณะนั้น ด้วยกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกรรม ครับ ผลของกรรมที่เป็นวิบากในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น ครับ

บาป มีได้ เพราะอาศัย จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น คือ เป็นจิตที่ไม่ดี เพราะประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น บาปจึงมีหลายระดับ คือ ขณะที่เป็นอกุศลจิต และขณะที่ทำอกุศลกรรม ที่เป็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ขณะที่เป็นบาปที่มีกำลังและสามารถทำให้ส่งผลได้รับวิบาก คือ ผลของกรรมได้ มีการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งขณะที่คิดในใจ เป็นอกุศลจิต เป็นบาป ที่ไม่ให้ผลให้ได้รับสิ่งไม่ดี ครับ เพียงสะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีเท่านั้น ครับ

เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ความเข้าใจถูก เห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงยิ่งขึ้น ว่ามีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นได้เลย แม้แต่ในขณะที่คิด ก็ไม่ใช่ตัวเราที่คิด แต่เป็นธรรม คือจิต เกิดขึ้นคิดในขณะนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุ ปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

การคิดดี คิดไม่ดี ก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แม้แต่ความคิดที่ไม่ดีก็เกิดขึ้นได้ เพราะยังมีกิเลสที่เป็นปุถุชนที่ยังหนาด้วยกิเลส ซึ่งไม่สามารถจะบังคับไม่ให้คิดอย่างนั้นได้เลย แต่ต้องสะสมเหตุที่ถูกต้อง เพราะความคิดที่ดี และ ความคิดไม่ดีก็อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ความคิดที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความเห็นถูก คือ ปัญญา เป็นเหตุ สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด สัมมาสัมกัปปะ คือ ความคิดที่ถูก เพราะฉะนั้น ก็ควรเข้าใจความจริงว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเกิดความคิดไม่ดีได้แน่ แม้แต่ที่ผู้ถามกล่าวมา แต่ที่สำคัญ ควรสะสมเหตุที่จะเกิดความคิดที่ดี คือ สะสมความเห็นถูก สะสมสัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะมีได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม บ่อยๆ เนืองๆ เพราะ ถ้าไม่สะสมเหตุนี้ก็ไม่มีทางเปลี่ยนความคิดได้เลย เพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดความคิดที่ดี ครับ

ดังนั้น ก็สะสม อบรมปัญญาด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมต่อไป ความคิดที่ถูก ที่ดี ก็จะเกิดเพิ่มขึ้น และ ความคิดที่ไม่ดี ก็จะน้อยลง ตามกำลังปัญญาที่เกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sea
วันที่ 5 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๓๔๗

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรเป็นไปในอำนาจของกิเลสที่เป็นไปแล้วในภายใน ด้วยว่ากิเลสเมื่อเจริญขึ้น (คือมีมากขึ้น, เพิ่มขึ้น) ย่อมให้ถึงความพินาศอย่างมาก เหมือนปัจจามิตร (ศัตรู) ”


กาย วาจา เป็นไปตามจิตจริงๆ ถ้าจิตเป็นกุศล ก็เป็นเหตุให้กาย วาจา เป็นไปในทางที่เป็นกุศล ถูกต้องดีงาม แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ตรงกันข้ามเลย เบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่น ว่าร้ายผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อที่น่าพิจารณา คือ อกุศล เป็น อกุศล ไม่ว่าจะเป็นอกุศล ในระดับใด ก็เป็นอกุศล และอกุศล ทั้งหมด เป็นบาป เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ เพียงคิดไม่ดีอยู่ในใจ ยังไม่ล่วงออกมาเป็นการกระทำหรือคำพูดที่ไม่ดี นั้น ยังไม่เป็นเหตุให้เกิดผล (วิบาก) ในภายหน้า แต่ก็เป็นการสะสมสิ่งที่ไม่ดีต่อไป ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลย เพราะถ้าประมาทเมื่อใด ก็อาจจะกระทำสิ่งที่ไม่ดีประการต่างๆ ได้ เช่น เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น นั่นแหละ เป็นบาป ที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น ได้ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

จิตที่กระทำกรรมใดๆ ไม่ใช่วิบากจิต

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Lai
วันที่ 26 ก.พ. 2565

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ