กิริยาอาการขณะโกรธ เป็นอกุศลกรรมบถได้หรือไม่

 
ค่อยๆศึกษา
วันที่  7 ก.พ. 2565
หมายเลข  42019
อ่าน  553

เป็นปกติของปุถุชนที่ยังสามารถโกรธได้ครับ บางครั้งก็โกรธมาก บางครั้งก็โกรธน้อย บางครั้งโกรธน้อยเรื่องเดิมๆ หลายๆ ครั้ง พอไม่พอใจอีกซักครั้ง ความโกรธก็ทะยานลิ่วขึ้นมาก็ยังได้ ที่เราสมมติใช้คำว่า ปรี๊ด!!! ผมอยากจะขอสอบถามครับ เวลาเราโกรธ แน่นอนว่า คิดไม่ดีต่อบุคคลนั้นแน่นอน มีบุคคลเป็นอารมณ์ มีความคิดแช่งในหัว บางครั้งก็แช่งตายก็มี อยากไปไกลๆ ก็มี คิดว่าจะอะไรนักหนาก็มี รำคาญก็มี แต่ไม่พูดออกมา

เพราะขณะโกรธ ก็สลับกับความคิดฝ่ายกุศลว่า หากล่วงเป็น วาจาทุจริต หรือ กายทุจริต เมื่อใด เมื่อเป็นกรรมบถ จะเดือดร้อนในภายหน้า ซึ่งก็แสดงความเป็นอนัตตาว่า ความโกรธ ความคิดแช่ง การระลึกว่าในทางกุศลที่จะไม่ล่วงกายทุจริต วจีทุจริต ก็ล้วนแต่เหตุปัจจัย บังคับไม่ได้เลย เกิดสลับกันไวมาก

ผมมีความสงสัยครับ เมื่อโกรธ สีหน้า อาการ ของเราย่อมส่องถึงจิตขณะนั้นด้วย เช่น ตาเริ่มเบิ่งและค้าง ตัวหรือมือเริ่มสั่น ลมหายใจเริ่มแรง ปฏิกิริยาตอบสนองต่ออีกบุคคลหนึ่งย่อมชา และเกร็ง หรือ ค้างไป หันหน้าไปมองฝา มองประตู ไม่สบตา เป็นต้น ขณะนั้นยังไม่ได้ล่วงอะไรออกมาเลย มีกิริยาอาการที่ออกมาดังกล่าว แต่อีกฝ่ายก็สังเกตุกิริยาอาการเราได้ ซึ่งนอกจากกิริยาอาการแล้ว ยังมีความคิดอกุศล แช่งชัก สลับกับกุศล รวดเร็วมากในช่วงนั้น ที่อีกฝ่ายไม่ทราบ

คำถามอยู่ตรงที่ว่า ขณะนั้นที่แช่งไปด้วยในใจ และ ก็หันหน้าหนี หรือ มองตาบ้างแว๊บๆ ซึ่งคือกิริยาอาการขณะโกรธที่อีกฝ่ายเห็นได้ ถือ เป็นการเบียดเบียน ทำให้อีกฝ่ายเคียดแค้น หรือไม่พอใจได้ไหมครับ และ ผมก็คิดเลยเถิดไปอีกว่า หากเขาจำท่าทางขณะที่เราโกรธ เค้าจะเอาไปคิด เกิดหมกมุ่นจำไปจนตาย จะเป็นปาณาติบาตจากการเลียดเบียนของเราหรือไม่

หรือ ขณะที่คิดก็ขณะหนึ่ง ขณะที่กุศลจิตเว้นวจีทุจริต กายทุจริต ก็ขณะหนึ่ง ขณะที่หันหน้าก็อีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่หันหน้าของเราคือ การแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจแทนคำพูด (ตรงนี้ครับที่สับสนว่า กิริยาอาการขณะโกรธ เช่น หน้าหันช้า สลับกับคำแช่งสารพัดในหัว สามารถ เป็นกายกรรม หรือ วจีกรรม ที่เบีบดเบียนอีกฝ่ายได้หรือไม่ เพราะผมมักโยงไปเองว่า คิดแช่งเป็นปัจจัยให้แสดงสีหน้าแบบนั้น และอีกฝ่ายเห็นสีหน้านั้นจากความคิดแช่งในหัว หากเค้าเคียดแค้นจนตายจากสีหน้านั้น คือ มีเจตนาฆ่าเค้า)

ขอความอนุเคราะห์ครับ
ผมอาจเรียบเรียงได้ไม่ดีนักครับ ขออภัยด้วยครับ

บางครั้งก็สับสนเอาอันนั้นมาโยงอันนี้ บางทีตัวเองก็มั่วคิดไปครับเรื่อยครับหากเข้าใจมากขึ้นความคิดสะเปะสะปะอย่างข้างต้นก็ค่อยๆ ลดลงด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๓๔๗

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรเป็นไปในอำนาจของกิเลสที่เป็นไปแล้วในภายใน ด้วยว่ากิเลสเมื่อเจริญขึ้น (คือมีมากขึ้น, เพิ่มขึ้น) ย่อมให้ถึงความพินาศอย่างมาก เหมือนปัจจามิตร (ศัตรู) ”



ขณะที่โกรธ ด่าหรือสาบแช่งอยู่ในใจ ซึ่งก็คือ คิดไม่ดีอยู่ในใจ ยังไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ยังไม่ได้ประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น ก็ยังไม่เป็นอกุศลกรรมบถ แต่อกุศล คือ ความโกรธ ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลย เพราะถ้าสะสมมีกำลังกล้า มีกำลังมากแล้วอาจจะกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ เช่น ด่าว่า ทำร้าย หรือจนถึงกับทำให้ผู้อื่นสิ้นชีวิต นั่นแหละ คือ เหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้า เป็นโทษโดยส่วนเดียว ส่วนบุคคลอื่น จะเกิดอกุศลอย่างไร ก็เป็นอกุศลของเขา เขาก็สะสมโทษต่อไป แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ที่จะอุปการะเกื้อกูล ให้ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอกุศลที่มีมากเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

หนทางเดียวที่จะดับความโกรธไม่ให้เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sea
วันที่ 9 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 9 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณครับ ด้วยความสงสัยเพิ่มเติมครับ ผมขอสอบถามเพิ่มว่า

กิริยาอาการ ที่ฟัดฟัด ตัวกระสับกระส่าย สายตาถมึงทึง สะบัดหน้า ไม่สบตา เป็นต้น ถือว่า เป็นการเบียดเบียนที่เป็นกรรมบถหรือยังครับ เพราะกิริยาอาการดูไม่น่าพอใจแก่อีกฝ่ายเลย เพราะบางทีก็อาจถูกต่อว่ากลับ ว่า ทำไมทำท่าอย่างนี้! ครั้งหน้าอย่ามาแสดงอาการแบบนี้อีกนะ!

ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2565

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

เข้าใจว่า ถ้ายังไม่ถึงกับเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ใช่การด่าว่า ไม่ใช่การทำร้าย ก็ยังไม่ถึงอกุศลกรรมบถ แต่การที่บุคคลอื่นจะเกิดอกุศลจิต ไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ที่สะสมโทษ คือ ความโกรธ ความไม่พอใจ ต่อไป ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 11 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ