มนสิการ กับ วิตก ต่างกันอย่างไร
มนสิการเจตสิก เป็นสัพพจิตสาธารณะเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ใส่ใจโดยแยบคาย จิตขณะนั้นเป็นกุศล มนสิการเจตสิกนั้นเป็น โยนิโสมนสิการ และ หากจิตขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็น อโยนิโสมนสิการ ส่วน วิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึก หรือ จรดไปในอารมณ์ หรือ ใช้คำว่าคิด เกิดกับจิตเกือบทุกประเภทเว้น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งกระทบสัมผัส และ ภวังคจิต (เท่าที่เข้าใจครับ) ซึ่งสามารถเกิดร่วมกับกุศลจิตและอกุศลจิตได้ ซึ่งก็จะเป็น กุศลวิตก หรือ อกุศลวิตก
แต่เวลากำลังไต่ตรอง พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นไปทางกุศล หรือ อกุศล ก็มีคิด หรือ วิตก และก็มี มสิการด้วย แต่ มนสิการ ไม่ใช่วิตก ความต่างกันของสองเจตสิกนี้เป็นอย่างไรครับ
รบกวนขอความอนุเคราะห์เพื่อความกระจ่างด้วยครับ
ขอแก้ไขนิดนึงครับ
มนสิการเจตสิก เป็นสัพพจิตสาธารณะเจตสิก เป็น สภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์ เมื่อกุศลจิตเกิด ก็เป็น พิจารณาโดยแยบคาย หรือ โยนิโสมนสิการ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มนสิการเจตสิก เป็น เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภท ทำหน้าที่ ใส่ใจในอารมณ์นั้น ซึ่งขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นก็มี มนสิการเจตสิก เกิดร่วมด้วย แต่ว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ การใส่ใจโดยไม่แยบคาย ทำให้จิตเป็นอกุศล และขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็มี มนสิการเจตสิก เกิดร่วมด้วย โดยเป็น โยนิโสมนสิการ คือ ความใส่ใจโดยแยบคาย จึงทำให้จิตเป็นกุศล ซึ่ง โยนิโสมนสิการ เป็น มนสิการเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นความเห็นถูก แต่เพราะอาศัยการใส่ใจด้วยดี ทำจิตเป็นกุศล และเกื้อกูลต่อการเกิดปัญญาด้วย ครับ
วิตก [ตรึก] (วิตักกเจตสิก) วิตกเจตสิก เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เกิดกับกุศลก็ได้ หรือ อกุศลก็ได้ ถ้าตรึกไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล, วิตก ในทางตรงกันข้าม ถ้าตรึกไปในทางอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเกิดเองเพียงลำพังไม่ได้ ก็ต้องเกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
วิตักกเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีจริงๆ ในขณะนี้ด้วย เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับจิตส่วนใหญ่เลยทีเดียว ซึ่งในชีวิตประจำวันก็ไม่เกิดกับจิต ๑๐ ประเภท คือ ไม่เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นผลของกุศล กับ ที่เป็นผลของอกุศล (รวมเป็น ๑๐ พอดี) นอกนั้น มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งยากที่จะเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง แม้มีจริงๆ ในขณะนี้ วัตักกเจตสิก ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่มีจริง ทั้งหมด เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
สำหรับในชีวิตประจำวัน ก็พอจะเข้าใจได้ว่า มีการตรึกไปในทางที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะส่วนใหญ่แล้ว ก็ตรึกนึกคิดด้วยกันทั้งนั้น ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง จะคิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังด้วยความเข้าใจ คิดในทางที่จะไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น หรือจะคิดในทางที่เบียดเบียดผู้อื่น เป็นไปกับด้วยอกุศลประการต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
ถ้ากล่าวถึงผลของกรรม แล้ว กว้างขวางมาก ครอบคลุมทั้งนามธรรมที่เป็นวิบาก และ รวมถึงรูปที่เกิดจากกรรม ด้วย
ตัวอย่างผลของกรรม เช่น จักขุวิญญาณ (เห็น) เป็นวิบาก จักขุวิญญาณ เป็นจิตชาติวิบาก เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ก็เป็นชาติวิบากด้วย นี้คือตัวอย่างของ ผลของกรรมที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นนามธรรม แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่เป็นรูป แล้ว เช่น จักขุปสาทะ เป็นรูปธรรม ที่เป็นผลของกรรม เพราะเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ไม่เรียกว่าวิบากเพราะเมื่อกล่าวถึงวิบากแล้ว ต้องเป็นนามธรรม เท่านั้น คือ จิตชาติวิบากและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เท่านั้น
ซึ่ง วิตกเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิก คือ สามารถเกิดร่วมกับจิตชาติใดก็ได้ และ สามารถเป็นผลของกรรม ที่เป็นวิบากก็ได้ ถ้าวิตกเจตสิกเกิดร่วมกับจิตชาติวิบาก, และ ไม่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมก็ได้ ถ้า วิตกเจตสิกเกิดกับ จิตที่ไม่ใช่ชาติวิบาก คือ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ครับ จึงกล่าวสรุปได้ว่า วิตกเจตสิก เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรมก็ได้ และ ไม่เป็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า วิตกเจตสิกเกิดกับจิตชาติใด ครับ
ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดี จากที่มากไปด้วยการตรึกไปด้วยอกุศล ก็มีพระธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา ทำให้น้อมไปในทางที่ดี ตรึกไปในทางที่ดีมากด้วย คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาครับ
อยากจะขอสอบถามเพิ่มเติมครับ การที่มีวิตกเจตสิก เกิด ขณะนั้น มีการคิด ซึ่ง คิด ก็คิดเป็นเรื่องราวบ้าง เป็นคำบ้าง ในหลายครั้งก็อาศัย ภาพที่เคยเห็นมาแล้วทางตาซึ่งดับไปแล้ว เป็นนิมิตที่ปรากฏตา โดยนัย เดียวกัน มีเสียงทางหู รสทางลิ้น กลิ่นทางจมูก เย็นร้อนอ่อนแข็งทางกาย ซึ่งอารมณ์ทางปัญจทวารได้ดับไปแล้ว แต่มีนิมิตของอารมณ์ที่ดับไปแล้วเกิดขึ้นภายหลังทำให้คิดหรือตรึกไปในอารมณ์นั้น เช่น รสหวานของน้ำผึ้งได้ดับไปแล้ว แต่จำรสหวานของน้ำผึ้งได้ และมีการคิดถึงรสหวานนั้น อาจจะด้วยความอยากกินอีก ก็เกิด ความคิด หรือ วิตกเจตสิก ที่ประกอบด้วยความจำในรสนั้น และประกอบด้วยความติดข้องในรสที่อยากจะได้ลิ้มรสอีกครั้ง เป็นโลภมูลจิต ในขณะนั้น กรณีเช่นนี้ วิตกเจตสิก สามารถจรดในอารมณ์ที่เป็น นิมิต หรือ จรดในบัญญัติ ได้ด้วยใช่ไหมครับ และ โดยนัยเดียวกัน วิตกเจตสิก สามารถเกิดพร้อมกับ โทสะ (คิดไปด้วยความโกรธ เช่น โกรธในบุคคล ขุ่นเคืองในวัตถุ) เป็นโทสมูลจิต โมหะ (คิดไปด้วยความฟุ้งซ่าน อย่างคิดไปเอง คิดเรื่อยเปื่อย) เป็นโมหมูลจิต ได้เช่นกันด้วยใช่ไหมครับ
หากเข้าใจคลาดเคลื่อนประการใดรบกวนชี้แนะด้วยครับ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ
มนสิการ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท ส่วนวิตักกเจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นปกิณณกเจตสิก คือ เป็นเจตสิก ที่สามารถเกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ คือ เป็นชาติกุศล ก็ได้ เป็นชาติอกุศล ก็ได้ เป็นชาติ วิบากก็ได้ เป็นชาติ กิริยา ก็ได้ แต่ไม่ได้เกิดกับจิตทุกประเภท เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น ก็ไม่มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ขณะที่คิดนึกเรื่องราว หรือ คิดถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ นั้น ทั้งมนสิการ และวิตักกะ ก็ทำกิจหน้าที่ของตน โดยที่มนสิการ ก็ใส่ใจในอารมณ์นั้น และวิตักกะ ก็จรดหรือตรึกในอารมณ์นั้น และเป็นที่แน่นอนว่า ในขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด ก็มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตรึกไปตามอกุศลนั้นๆ และ มนสิการ ก็เกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเราที่คิด ไม่มีเราที่เป็นอกุศล มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม เท่านั้น เมื่อเข้าใจธรรม ก็จะเบาสบาย ไม่หนัก ไม่เดือดร้อน ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...