[คำที่ ๕๔๗] สิพฺพินี

 
Sudhipong.U
วันที่  16 ก.พ. 2565
หมายเลข  42086
อ่าน  526

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สิพฺพินี

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สิพฺพินี อ่านตามภาษาบาลีว่า สิบ - พิ - นี เขียนเป็นไทยตรงตัวได้ว่า สิพพินี แปลว่า เย็บไว้, ทำให้ติดแน่น, ร้อยรัดไว้ เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นจริงของตัณหาหรือโลภะ ซึ่งเป็นความอยาก ความติดข้องต้องการ ย่อมเย็บติดแน่นหรือร้อยรัดผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดไปเรื่อยๆ ไม่พ้นจากทุกข์

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงความเป็นจริงของตัณหาที่ชื่อว่า สิพพินี ไว้ดังนี้

ตัณหา ชื่อว่า สิพฺพินี เพราะอรรถว่า ติดแน่น เพราะตัณหานี้ เย็บคือติดแน่นเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ด้วยสามารถแห่งจุติ (ตาย) และปฏิสนธิ (เกิด) ดุจช่างเย็บ เย็บผ้าเก่าด้วยผ้าเก่า ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่า เย็บไว้ เพราะอรรถว่า ติดแน่น


ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลเกิดมากกว่ากุศล ทั้งอาจจะสำคัญผิดด้วยซ้ำไปว่ามีกุศลมาก

อกุศล เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วนในสังสารวัฏฏ์ โดยเฉพาะตัณหาหรือโลภะ ซึ่งมีชื่อเรียกมากมาย เช่น นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ราคะ (ความกำหนัด) อิจฉา (ความปรารถนา ความอยาก) อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้) วานะ (เครื่องร้อยรัด) รุจิ (ความยินดี) อาลยะ (ความอาลัย) วิสัตติกา (สภาพที่ซ่านไปในอารมณ์) รวมถึง สิพพินี ซึ่งหมายถึง เป็นสภาพที่เย็บติดแน่นหรือร้อยรัดไว้ด้วย แต่ทั้งหมดหมายถึงสภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพที่ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ด้วย ตัณหาหรือโลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัย ตัณหาก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ เช่น ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ ประพฤติผิดในกามก็ได้ ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม ตนเองย่อมเดือดร้อน เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน สร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย และจะโทษใครก็ไม่ได้ด้วย ถ้าเป็นผู้ถูกครอบงำด้วยตัณหาแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง ตัณหาที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจของตัณหาหรือโลภะโดยตลอด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงลักษณะของธรรมโดยละเอียด แม้แต่ตัณหา ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ปุถุชนจะไม่ทราบเลยว่าวันหนึ่งๆ มากไปด้วยตัณหาเพียงใด ซึ่งปรากฏในอาการต่างๆ มากมาย

เรื่องของตัณหา เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนอาจจะไม่มีอาการของความละโมบ ความอยาก ความต้องการ ความหวังปรากฏทางกาย ทางวาจา แต่ปรากฎทางใจ แม้แต่ในความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่ามีความหวัง มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือไม่? แต่บุคคลผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในตัณหา ก็ไม่มีวันที่จะหมดตัณหาได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในกุศลธรรม ไม่อิ่มในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะถึงการดับตัณหาได้ในที่สุด

ข้อสำคัญ ต้องเห็นตัณหาตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ควรจะขัดเกลาละคลายให้เบาบาง แต่การที่จะละคลายขัดเกลาตัณหาให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด และยากมาก ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะลักษณะของตัณหา นั้น เป็นอกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าตัณหาจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของตัณหา แสวงหาในสิ่งที่ต้องการ แสวงหามาเพื่อทุกข์ แสวงหามาเพื่อความเดือดร้อน แสวงหามาเพื่อความลำบาก แสวงหามาเพื่อความไม่สงบ นี้คือ ความเป็นจริงของตัณหา ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และที่สำคัญ ตัณหา นี้เอง ย่อมเย็บให้ติดแน่นหรือร้อยรัดเหล่าสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับตัณหาได้ ก็ยังคงเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

ข้อที่น่าพิจารณาคือ ตัณหา ความอยากความต้องการ ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ บุคคลผู้มีตัณหา แต่สะสมศรัทธามาที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับตัณหาได้ นี้คือสิ่งที่น่าอัศจรรย์ กว่าจะถึงความน่าอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้ ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อละโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อละความติดข้องยินดีพอใจจนหมดสิ้น ไม่ต้องมีการเกิดอีกในภพใหม่ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีก ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง หนทางนี้ คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างมั่นคง ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ทุกครั้งที่มีโอกาสฟังพระธรรม ย่อมจะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เจริญขึ้น สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 16 ก.พ. 2565

    ขอบพระคุณ และยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 20 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ