[คำที่ ๕๔๘] วตฺถุรูป

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ก.พ. 2565
หมายเลข  42230
อ่าน  519

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วตฺถุรูป — รูปที่เป็นที่เกิดของจิต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

วตฺถุรูป อ่านตามภาษาบาลีว่า วัด - ถุ - รู -ปะ มาจากคำว่า วตฺถุ (ในที่นี้มุ่งหมายถึง ที่เกิดของจิต) กับคำว่า รูป (รูป, สภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้) รวมกันเป็น วตฺถุรูป เขียนเป็นไทยได้ว่า วัตถุรูป หมายถึง รูปที่เป็นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม จิตจะต้องเกิดที่รูปอันเป็นวัตถุรูป ๖ รูป ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ จิตจะไม่เกิดนอกรูปเลย ตามข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ดังนี้

ในพระบาลีนี้ วิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น เป็นที่อาศัยเกิดทีเดียว, มโนวิญญาณ มีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง ไม่มีหทยวัตถุ เป็นที่อาศัยเกิดบ้าง วิญญาณทั้งหมด เป็นวิญญาณ เป็นไปในภูมิ ๔ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ)


สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดาด้วยกันทั้งนั้น จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้นขณะที่ยังไม่ดับและขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตนั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิตก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย สภาพธรรมที่กล่าวถึงนั้น คือ เจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต

ทุกขณะของชีวิต ไม่เคยขาดจิตเลย จิตเป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้น จิตก็ต้องเกิดที่วัตถุรูป รูปอันเป็นที่เกิดของจิต เรียกว่า วัตถุรูป เมื่อใช้คำว่า วัตถุรูป ย่อมหมายเอาเฉพาะรูปที่เป็นที่เกิดของจิต แต่ถ้าไม่กล่าวถึงวัตถุก็เป็นรูปธรรมดา เช่น ถ้ากล่าวว่า จักขุวัตถุ คือรูปนั้นเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เพราะเหตุว่า จักขุปสาทะ กรรมทำให้เกิดขึ้น จิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นจะมีอนุขณะ (ขณะย่อย) อยู่ ๓ ขณะ ได้แก่ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่ดับ และขณะที่ดับ กรรมทำให้รูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดทุกอนุขณะของจิต ขณะนี้หรือขณะนอนหลับ จักขุปสาทะก็มี แต่ไม่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เพราะว่าจิตเห็นไม่ได้เกิดในขณะนั้น แต่ขณะใดที่จิตเห็นเกิด จิตเห็นจะเกิดที่ไหนไม่ได้ นอกจากเกิดที่จักขุปสาทรูป ขณะที่จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจิตเห็น จึงเรียกว่า จักขุวัตถุ

วัตถุรูป มี ๖ ได้แก่

จักขุปสาทรูป เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

โสตปสาทรูป เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้ยิน กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ฆานปสาทรูป เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตลิ้มรส กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

กายปสาทรูป เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย กุศลวิบาก ๑ ดวง และ อกุศลวิบาก ๑ ดวง

[รวมเรียกจิต ๑๐ ดวงนี้ว่า ทวิปัญจวิญญาณ (จิต ๕ คูณ ๒ อันเป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก)]

ทหทยรูป เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และขณะต่อๆ ไป จิตก็ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป ในขณะนี้ก็ไม่ลืมว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูปหนึ่งในบรรดาจำนวน ๖ รูป ไม่ใช่รูปอื่นนอกจากนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็พิจารณาต่อไปได้ว่า โลภมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ โทสมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ โมหมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ กุศลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ เปลี่ยนไม่ได้เลย นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ การศึกษาธรรม เป็นการศึกษาสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่อำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เนื่องจากคุ้นเคยกับความเป็นตัวตน คุ้นเคยกับความเป็นเรา พร้อมทั้งได้สะสมความไม่รู้มามากในสังสารวัฏฏ์ จึงหลงยึดถือธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ดังนั้น ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น จึงควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด เพราะพระธรรมทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว อุปการะเกื้อกูลให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่า มีแต่ธรรม เท่านั้น ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เป็นโอกาสที่สำคัญที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 25 ก.พ. 2565

    ขอบพระคุณ และยินดีในกุศลจิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 26 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ