[คำที่ ๕๔๙] จิตฺตชาติ

 
Sudhipong.U
วันที่  2 มี.ค. 2565
หมายเลข  42366
อ่าน  614

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จิตฺตชาติ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

จิตฺตชาติ อ่านตามภาษาบาลีว่า จิด - ตะ - ชา - ติ มาจากคำว่า จิตฺต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์, จิต) กับคำว่า ชาติ (การเกิด, ชาติ) รวมกันเป็น จิตฺตชาติ แปลว่า การเกิดของจิต, ชาติของจิต แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง คือ จิต เมื่อเกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล เป็นกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล เป็นอกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นวิบากชาติ และ จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เป็นกิริยาชาติ เมื่อจิตเป็นชาติใด เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นชาตินั้นด้วย สำหรับการเกิดขึ้นแห่งจิตที่ประเสริฐ ก็คือขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ขัดเกลาอกุศลของตนเอง สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปิยสูตร ดังนี้

บุคคลพึงทำกัลยาณกรรม (กรรมที่ดีงาม) สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก (โลกหน้า) , ด้วยว่า บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก


ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงชาติ คือ การเกิดของจิต ว่า มี ๔ ชาติ ได้แก่ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากคือผลของกรรม ๑ และ จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา คือ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล เป็นแต่เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปเท่านั้น ๑ จิตทั้ง ๔ ชาติ เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การศึกษาเรื่องชาติของจิต ก็คือศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เพื่อเข้าใจความจริงของจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ก็เริ่มทำให้รู้จักจิตตามความเป็นจริง เพราะที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็คือ จิต พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เมื่อเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงความเป็นไปของจิตแต่ละชาติ แต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเป็นไป ปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้ ก็ค่อยๆ ไถ่ถอนการยึดถือ ว่า มีเรา มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ละความเห็นผิด นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องชาติของจิต คือ เข้าใจว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรา

จะเห็นได้ว่าในชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น ย่อมมีจิตเกิดขึ้นเป็นไปใน ๔ ชาติ ดังกล่าว โดยเฉพาะอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยและเกิดมากกว่ากุศล เพราะเหตุว่า เมื่อไม่กล่าวถึงขณะจิตที่เป็นกุศล ขณะจิตที่เป็นการได้รับผลของกรรม และขณะที่จิตเป็นกิริยาแล้ว นอกนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ขณะที่มีความเกลียดชังกัน โกรธขุ่นเคืองใจ ขณะที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นต้น ขณะนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี และเมื่อสะสมมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ มีแต่โทษเท่านั้น

ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นนั้น ภัยภายในเกิดขึ้นแล้ว และยังจะเป็นเหตุให้ได้รับภัยคือผลของอกุศลด้วย แล้วจะแก้ไขอย่างไร จะช่วยให้พ้นจากภัยคืออกุศลได้อย่างไร ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะรู้ปัญหาหรือต้นเหตุที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น แม้จะพยายามแก้ไขสักเท่าไหร่ก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่ได้รู้ว่าเหตุที่แท้จริงมาจากไหน

แต่ละคนก็สามารถพิจารณาได้ว่า ระหว่างความดีกับความชั่ว อะไรดี อะไรประเสริฐ? ก็ต้องเป็นความดีอย่างแน่นอน ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง ตรง และจริงใจ ธรรมดาจริงๆ อกุศลเกิดเร็วมาก เราอาจจะคิดไม่ถึงเลยว่านั่นเป็นอกุศล แต่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง

จะช่วยให้พ้นจากภัยได้อย่างไร? เมื่อเริ่มศึกษาพระธรรมก็จะพอเข้าใจแล้วว่า ขณะใด เป็นอกุศล เดี๋ยวนี้ก็มี แม้จะยังไม่ถึงการกระทำทุจริตกรรมใดๆ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็เป็นอวิชชา เป็นโมหะ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเป็นรากเหง้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะมีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ช่วยให้ไม่เป็นอกุศล ช่วยไม่ให้อกุศลเกิด นั่นคือช่วยแล้ว เป็นการช่วยที่เหตุ เมื่อเหตุคืออกุศลไม่เกิด ผลของอกุศลก็ไม่มี พ้นภัยแล้วในขณะนั้น และภัยก็มีหลายอย่าง ภัยในชาตินี้ก็เห็นกันอยู่ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น แต่ภัยหลังจากที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว น่ากลัวมาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานความเดือดร้อนมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ช่วยตั้งแต่ไม่ให้อกุศลเกิดจนกระทั่งช่วยให้พ้นจากภัย คือ จากโลกนี้ไปแล้วไม่ไปเกิดในอบายภูมิ นี้คือการช่วยให้พ้นภัย สิ่งที่จะช่วยให้พ้นจากภัยได้อย่างแท้จริง ก็คือ พระธรรมคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทำให้รู้ความจริงในเหตุในผลของธรรมตามความเป็นจริง

พระธรรมคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยให้พ้นภัย คือ ช่วยให้ไม่เป็นอกุศล และช่วยให้พ้นจากภัยคือการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นชีวิตของแต่ละคนจริงๆ ช่วยจากที่มีอกุศลจิตซึ่งเป็นอกุศลชาติ แล้วให้น้อมไปในทางที่เป็นกุศล มีกุศลจิตซึ่งเป็นกุศลชาติ เป็นขณะจิตที่ประเสริฐ เกิดขึ้นเป็นไป ถ้าแต่คนแต่ละหนึ่งเป็นอย่างนี้ คือ เป็นกุศล ก็พ้นภัยทั้งนั้นเลย แต่ถ้ามีแต่อกุศลมากๆ แล้วจะให้พ้นภัยได้อย่างไร เหตุกับผลต้องตรงกัน เพราะฉะนั้น เกิดมาแล้ว ควรที่จะมีที่พึ่ง คือ มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พึ่งด้วยการฟัง ด้วยการศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จะเห็นได้ว่าคุณประโยชน์มากมายที่เกิดขึ้นเมื่อได้เข้าใจพระธรรม เริ่มตั้งแต่ความดีเจริญขึ้นในชีวิตประจำวันจนกระทั่งถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 6 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ