ความต่างของชีวิตสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่

 
pinyada
วันที่  14 ก.ค. 2550
หมายเลข  4258
อ่าน  8,063

การปล่อยชีวิตสัตว์แต่ละชนิดมีความต่างกันอย่างไรคะ ได้ยินแต่คนพูดว่าให้ปล่อยชีวิตสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือ หมู แล้วมาทานพวกกุ้ง ปู ปลาแทน ไม่ทราบว่าสัตว์เล็กมีจิตใจเหมือนพวกสัตว์ใหญ่ไหมคะ และความเป็นบาปในการทำร้ายสัตว์เล็กจะน้อยกว่าสัตว์ใหญ่อย่างไร หากมันมีชีวิตเหมือนกัน แล้วได้ยินแต่ว่ามนุษย์สามารถมาเกิดเป็นวัวควาย หมู หมาได้ แล้วจะสามารถไปเกิดเป็นสัตว์เล็กจำพวกปลา หอย ยุง ได้ไหมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 15 ก.ค. 2550

พระพุทธเจ้าทรงพระธรรมที่เป็นความจริงว่า สังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน คือการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในกำเนิดต่างๆ บางครั้งเราเกิดในอบายภูมิ บางครั้งเกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งเกิดเป็นเทวดา บางครั้งเกิดเป็นพระพรหม การเกิดในกำเนิดเหล่านั้นเพราะกรรมที่สัตว์กระทำไว้ ฉะนั้น การเกิดเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะเหตุ คือ อกุศลกรรมที่เรากระทำไว้ เมื่อส่งผลนำเกิดย่อมทำให้เกิดในนรกบ้าง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทต่างๆ บ้าง เกิดเป็นเปรตบ้าง ส่วนการฆ่าสัตว์ที่มีโทษมาก โทษน้อยขึ้นอยู่ที่องค์ประกอบหลายอย่าง เช่นกิเลสมีกำลังมาก มีความพยายามมาก สัตว์มีคุณมาก สัตว์ขนาดใหญ่ เป็นต้น การฆ่าดังที่กล่าวมานี้ชื่อว่ามีโทษมาก (บาปมาก)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 ก.ค. 2550

การปล่อยชีวิตสัตว์แต่ละชนิดมีความต่างกันอย่างไร - ขึ้นอยู่กับขณะจิตที่เกิดเวลาที่กำลังปล่อยชีวิตสัตว์นั้นว่า

๑. เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือให้เกิดประโยชน์ต่อสัตว์นั้นจริงๆ จิตที่สติระลึกรู้ได้จะผ่องใส เพราะเกิดศรัทธาที่เลื่อมใสในกุศลธรรมนั้นร่วมด้วย

๒. เป็นไปเพราะต้องการ ติดข้อง ในผลของกุศลกรรมหลังจากกระทำ ให้ได้เป็นบุญ เป็นความร่ำรวยมั่งมี หรือสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

สัตว์เล็กมี จิตใจ เหมือนพวกสัตว์ใหญ่ไหม -- ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มี จิด เจตสิก รูป เหมือนกันครับ ต่างกันตรงที่กรรมจะทำให้รูปแต่ละกลุ่ม (กลาป) ที่เกิดขึ้น (กัมมชรูป) พร้อมกับปฏิสนธิจิต (ที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้วดับไป) เป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ต่างๆ กัน ตามกรรมที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต แต่ถ้าหมายถึง จิตใจ ในความเข้าใจในภาษาไทย จะใช้ไขว้เขวไป เป็นความรู้สึก นึก คิด อารมณ์ เช่น บางทีเราพูดว่า "ทำไมคนๆ นั้นชั่วร้าย ทำบาปทำกรรม ไม่มีจิตใจหรืออย่างไร" ถ้าเป็นตามนัยนี้ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นไม่มีใครเหมือนกันเลยสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ก็ไม่มีทางเหมือนกันแน่นอนครับ

เรื่องการรับประทานสัตว์เล็ก ขอยกตัวอย่างเพื่อนของเพื่อนผมคนหนึ่ง คนนี้เค้าหันมารับประทานเนื้อสัตว์เล็กๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เพราะคิดว่าไม่บาปมาก ด้วยเหตุที่มันมีสมองน้อย ไม่ค่อยฉลาด แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมก็จะต้องเป็นผู้ตรงว่า "บาปหรืออกุศลจิตที่เกิดนั้น ต้องเป็นไปในขณะที่ไม่ใช่ ทาน ศีล หรือ ภาวนา" การที่คิดว่าไม่รับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ เพราะคิดว่าบาปมาก บางคนไปคิดถึงตอนเค้าพาหมู พาวัว พาควาย ไปฆ่าเอาเนื้อ หรือการได้เห็นการฆ่าสัตว์จริงๆ หรือจากวีซีดีที่ถ่ายทำการฆ่าชีวิตสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่อกุศลจิตเกิด จะด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม แม้จะไม่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร หรือการฆ่าสัตว์ สภาพธรรมนั้นก็เป็นไปในลักษณะที่ให้โทษกับทุกคน คือ จิตในขณะนั้นเศร้าหมอง ขุ่นมัวหรือเร่าร้อน ไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เหตุนี้ ถ้าไม่เคยศึกษาพระธรรมเลย ก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ได้ ไม่ว่าจะรับประทานอาหารอะไร หากยังมีความไม่รู้ หลงลืมสติ ก็ย่อมเป็นไปด้วยกำลังของกิเลสที่มีลักษณะตะกรุมตะกรามอย่างลิง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ค. 2550

สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ก็มีจิต เจตสิก รูป เหมือนกัน การปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่

สัตว์เล็ก เป็นการเจริญเมตตา การฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น โค ฯลฯ ก็บาปมากกว่าการฆ่าสัตว์

เล็ก เช่น ยุง มด ฯลฯ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า ในสังสารวัฏฏ์เราเป็นมาแล้ว

ทุกอย่าง ยกเว้นการเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในชั้นสุทธาวาส 5 ซึ่งเป็นภูมิของพระอนาคามี

บุคคลที่ได้ปัญจมฌาน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 ก.ค. 2550

                       ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 กุศลอยู่ที่จิต ขณะที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น การให้ชีวิตสัตว์แต่ละชนิด จะต่างกัน คำว่าต่างกัน คือสภาพของจิตต่างกัน    เช่น จิตผ่องใส ไม่มีอกุศลเกิดขั้นเลย หรือ จิตไม่ผ่องใสมีอกุศลเกิดขั้น เช่น ปล่อยแล้วก็หวังผลให้เกิดภพที่ดี ขณะที่ปล่อย เป็นกุศล ขณะที่หวังผลเป็นอกุศล หรือปล่อยโดยที่ไม่หวังผลเพื่อช่วยเหลือ สภาพจิตก็ต่างจากประการแรกที่กล่าว ดังนั้นไม่ว่าจะปล่อยสัตว์ใด สภาพจิตเป็นสำคัญที่ต่างกัน อาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ครับ เป็นต้น ส่วนเรื่อง สัตว์เล็กมีจิตไหม  สัตว์ เห็นไหม ขณะที่เห็น เป็นจิต (จิตเห็น) สัตว์ได้ยิน

ไหม ถ้าได้ยินก็มีจิต (จิตได้ยิน) ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่าขณะนี้มีจิตไหม ถ้ามีจิตอยู่ที่ไหนและจิตอะไร ขณะที่เห็นเป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เห็นไม่ใช่เราที่เห็น สัตว์ก็เห็น เป็นตัวสัตว์ที่เห็นหรือเป็นจิตที่เห็นในเมื่อเป็นสภาพธัมมะคือเห็นเหมือนกัน ก็ต้องเป็นจิตครับ ดังนั้น สัตว์เล็กก็เห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น เหล่านี้เป็นจิตครับ บาปมากน้อยในการทำร้ายสัตว์ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดของสัตว์ เพราะต้องมีความพยายามมาก จึงเป็นกิเลสที่มีกำลัง เมื่อกิเลสมากในการกระทำ บาปก็มาก สัตว์เหล่านั้นมีคุณมากหรือน้อย ถ้ามีคุณมาก คุณในที่นี้คือคุณธรรมครับ ถ้ามีคุณมากก็บาปมากครับ เป็นต้นส่วนเรื่องมนุษย์ไปเกิดเป็นสัตว์เล็กก็เกิดได้ครับ เพราะในสังสารวัฏฏ์เราเกิดมาเกือบหมดแล้ว เพราะเราก็ประกอบอกุศลมามากครับ แม้พระโพธิสัตว์ก็เคยเกิดเป็นปลาครับ ตราบใดที่ยังมีกิเลสมากและเป็นปุถุชน ก็จะเกิดเป็นสัตว์เล็กน้อยได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 ก.ค. 2550

เรื่อง แม้พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นปลา (สัตว์เล็ก) จะกล่าวไปใยถึง...

เชิญคลิกอ่านที่นี่

สัจกิริยา [มัจฉราชจริยา]

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pinyada
วันที่ 15 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาสหายธรรมทุกท่านค่ะที่กรุณาให้ความกระจ่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
อิสระ
วันที่ 16 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Guest
วันที่ 16 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 21 ก.ค. 2550
แต่เราควรปล่อยให้หมดน่ะ ถ้ามีกำลังและโอกาส เพราะกุศลทุกอย่างควรเจริญ ไม่ควรประมาทในกุศลแม้เพียงเล็กน้อย น้ำหยดเล็กก็เต็มตุ่มได้น่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
olive
วันที่ 23 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ