ตอนนี้หาทางออกกับเรื่องนี้อยู่
เราสัญญากับแฟนว่าจะซื้อโทรศัพท์ให้ แต่เราเปลี่ยนใจคิดว่าให้เขาซื้อเองดีกว่า เราไปซื้อให้พ่อดีกว่าเพราะพ่อเรายังไม่มีเลย แล้วเราก็บอกว่าเราจะเอาเงินไปใช้อย่างอื่นที่มีความจำเป็นมากกว่า เขาก็ทวงบอกว่าเราสัญญาแล้วว่าจะซื้อให้เขา เราไม่เข้าใจความคิดของผู้ชาย ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายให้ผู้หญิงพึ่งพาไม่ใช่หรือ หรือว่าความคิดเรามันโบราณเกินไป ท่านผู้อ่านคิดว่ายังไงคะ จะซื้อให้ดีมั้ย เราก็ไม่มีเงินเก็บเท่าไหร่น่ะสิ ใจนึงก็แคร์นะ เคยคิดว่าจะซื้อให้ แต่ถ้าให้ก็ต้องให้เรื่อยๆ สิ แต่อีกใจนึงก็ยังห่วงเงินอยู่
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ไม่รู้ว่าแฟนคุณ สึก หรือยัง แต่ถ้ายังไม่สึกก็ไม่ควรให้ตอนนั้น แต่ถ้าสึกแล้ว เราบอกว่าจะให้ก็ควรให้ แต่ก็ต้องพิจารณาถึงประโยชน์เป็นสำคัญด้วย สิ่งใดจำเป็นกว่าก็ทำสิ่งนั้นก่อน แต่สิ่งที่สัญญาว่าจะให้ก็ควรทำตามสัญญา การให้ไม่แบ่งเพศหรอกครับ อย่างน้อยก็สละกิเลสของเราเองและรักษาสัจจะด้วย แต่ถ้าเป็นไปในทางอกุศลหมายถึง สัญญาที่จะทำชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง การไม่ทำตามไม่ชื่อว่าเสียสัจจะครับอย่างไรก็ตามควรพิจารณาว่าสิ่งใดควรทำก่อน และสิ่งใดเป็นประโยชน์กว่าก็ทำสิ่งนั้นอธิบายเหตุผลให้เขาฟังได้ว่า สิ่งนี้ควรทำก่อนและเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ก็จะทำตามสัญญา คือ เมื่อบอกว่าจะให้ก็ควรให้ แต่รู้จักกาลที่เหมาะสมครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ลองอ่านดูนะ
เรื่อง รู้ว่าสิ่งใดควรทำก่อน ทำหลัง
พ ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 258
ข้อความบางตอนจาก หัตถิปาลชาดก
บุรุษผู้กล่าวผัดเพี้ยนการงานที่ควรจะทำในวันนี้ว่า ควรทำในวันพรุ่งนี้ การงานที่ควรจะทำในวันพรุ่งนี้ว่า ควรทำในวันต่อไป ย่อมเสื่อมจากการงานนั้น ธีรชนคนใดรู้ว่า สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นไม่มีแล้ว พึงบรรเทาความพอใจที่เกิดขึ้นเสีย.
เรื่อง ผู้ที่ขอกำลังร้องไห้ ผู้ที่ไม่ให้กำลังร้องไห้ตอบ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 538
ข้อความบางตอนจาก พรหมทัตตชาดก
ว่าด้วยผู้ขอกับผู้ถูกขอ
[๕๙๐] ดูก่อนมหาบพิตร ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่างคือ ได้ทรัพย์หรือไม่ได้ทรัพย์ แท้จริงการขอมีอย่างนี้เป็นธรรมดา.
[๕๙๑] ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่ในปัญจาลรัฐ บัณฑิตกล่าวถึงการขอว่า เป็นการร้องไห้ ผู้ใดปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวคำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็นการร้องไห้ตอบ.
อนุโมทนาค่ะ
เมื่อเราให้สัจจะสิ่งใดไว้ ก็ควรจะรักษาสัจจะนั้น สิ่งที่ให้นั้นก็ควรเป็นไปด้วยความเหมาะสมตามประโยชน์และกำลังทรัพย์ที่มี เพื่อที่ให้แล้วก็จะไม่รู้สึกเสียดายหรือเกิดอกุศลในภายหลัง ถ้ากลัวว่าให้ครั้งนี้แล้วจะต้องให้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ควรจะพูดจากับแฟน ตกลงกัน และไม่ควรไปรับปากกับเขาก่อน สิ่งที่เขาขอ ถ้าเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ไม่เป็นประโยชน์ เราก็สามารถปฏิเสธเขาได้ คนที่คบกันควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันและชักจูงไปในทางที่ดี ไม่ควรเอาเปรียบ หรือเบียดเบียนกัน
ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย
การให้ เป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าทำให้ตัวเองเดือดร้อนค่ะ
สรุป การพูดว่าจะให้ก็ยาก การรักษาคำพูดก็ยาก แต่ที่ยากที่สุดคือให้แล้วไม่เสียดายค่ะ
เพียงคำพูดที่เป็นอดีต ก็ยังทำให้เราคิดพัวพันถึงแต่คำที่เคยพูดได้ ความเสียดายที่มากที่สุดของคุณบัวน่าจะเป็น ความเสียดายที่ไม่น่าจะพูดในเวลานั้น มากกว่าจะเป็นความเสียดายทรัพย์ เพราะความเสียดายทรัพย์เป็นทุกข์ใจที่มาจากเหตุของคำพูดนั้นภายหลัง แต่ส่วนใหญ่เรามาคิดถึงเรื่องเสียดายทรัพย์มากกว่า เพราะยังยึดถือทรัพย์ว่าเป็นของรัก เป็นของเรา จึงไม่คิดสละ หรือสละไป ก็สละด้วยความไม่สบายใจ เป็นธรรมดาที่ ทุกคนย่อมรักตัวเองที่สุด แต่การหาคนที่เรารักรองจากตัวเอง (บุพการี) มาเป็นเหตุผลให้ตนสบายใจขึ้น ดูเหมือนเป็นการสร้างกำแพงฝุ่นปิดบังไว้ กันปัญหาไม่ให้เกิดเฉพาะหน้า แต่ผู้อื่นมองเข้ามาก็ยังมองเห็นได้ มองเห็นตัวผู้สร้างได้ และฝุ่นนั้นก็ย่อมเข้าตาผู้สร้าง ย่อมเปื้อนมือผู้สร้าง ย่อมทำให้ผู้สร้างเป็นทุกข์เสียเอง ไม่สามารถตัดรากถอนโคนที่ต้นเหตุของปัญหานี้โดยแท้จริงได้ ทั้งยังไม่ได้ช่วยให้เราคิดจะสละด้วยความจริงใจ เมื่อเรายังเลือกบุคคลที่จะสละโดยเห็นความสำคัญกว่า คือ รักมากกว่า สัจจะกับโลภะปนกันไม่ได้นะครับ
อ่านเรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่าควรระวังตัว ก่อนพูดต้องคิดไตร่ตรองให้มากเพราะการรักษาคำพูดนั้นยากกว่าตอนจะพูดออกมาเสียอีก