[คำที่ ๕๕๐] อายตน

 
Sudhipong.U
วันที่  12 มี.ค. 2565
หมายเลข  42813
อ่าน  841

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อายตน”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อายตน อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - ยะ - ตะ - นะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อายตนะ มีความหมายว่า ที่ประชุม, บ่อเกิด เป็นอีกคำ ๑ ที่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ประชุมกัน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด

ข้อความในอัฏฐสาลินีอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์แสดงความหมายของอายตนะ ดังนี้

“ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะอรรถว่าเป็นสถานที่ประชุม และเพราะ อรรถว่าเป็นการณะ คือ เป็นเหตุ”

ตัวอย่างที่อธิบายความเป็นอายตนะ ตามข้อความในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์มีดังนี้

“ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นๆ ย่อมอาศัยอยู่ในอายตนะทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น เพราะ ความเป็นไปเนื่องด้วยจักขุเป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น อายตนะมีจักขุเป็นต้น จึงชื่อว่า เป็นที่อยู่ อาศัยของจิตและเจตสิกเหล่านั้น”

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์อายตนวิภังคนิทเทส แสดงอายตนะ ๑๒ มีดังนี้

อายตนะ ๑๒ คือ

๑. จักขายตนะ (จักขุปสาทรูป) ๒. รูปายตนะ (สี)

๓. โสตายตนะ (โสตปสาทรูป) ๔. สัททายตนะ (เสียง)

๕. ฆานายตนะ (ฆานปสาทรูป) ๖. คันธายตนะ (กลิ่น)

๗. ชิวหายตนะ (ชิวหาปสาทรูป) ๘. รสายตนะ (รส)

๙. กายายตนะ (กายปสาทรูป)

๑๐. โผฏฐัพพายตนะ (ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุลม ที่กระทบกาย)

๑๑. มนายตนะ (จิต ๘๙)

๑๒. ธัมมายตนะ (สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ และ นิพพาน)


ถ้ากล่าวถึงคำว่า อายตนะ ก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับบุคคลบางคนที่ไม่คุ้นกับภาษาบาลี หรือ ภาษาธรรม แต่ความจริงแล้ว อายตนะ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ได้แก่ ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ สีที่ ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหูกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย และอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ ซึ่งใช้คำว่า ธัมมายตนะ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง

จะเห็นได้ว่า ภาษาบาลีซึ่งดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงแล้ว ก็เป็นคำที่กล่าวถึงเป็นธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจนั่นเอง แต่เมื่อไม่มีการฟัง ให้เข้าใจ ก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจได้แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตดำเนินไปทุกขณะ เป็น ธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ย่อมสามารถฟังแล้วพิจารณา ไตร่ตรองและเกิดความเข้าใจในธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งการที่จะมีการฟังมีการศึกษาพระธรรม ก็เพราะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ต้องอาศัยเหตุ ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ ตัวตนอย่างสิ้นเชิง แม้แต่ในขณะที่เห็นขณะหนึ่ง ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั้น ต้องมีสภาพธรรมที่ ประชุมพร้อมกันในขณะนั้น ยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป ได้แก่ มีจักขุปสาทะ เป็นจักขายตนะ อันเป็นที่เกิดของจักขุ วิญญาณ ยังมีอยู่ มีรูปารมณ์คือ สีซึ่งยังไม่ดับ เป็นรูปายตนะ มีจักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็น ซึ่งเป็น มนายตนะ และ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะจิตอย่างเดียว แต่จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเกิดพร้อมกันกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีทั้งรูปและนาม เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นจะขาดเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด ใน ๗ ประเภท ไม่ได้ เช่น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบกับสีจิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่จะต้องอาศัยกัน และกัน นี้คือความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดกับจักขุ วิญญาณหรือจิตเห็น ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (สภาพธรรมที่รู้สึก) สัญญา (สภาพ ธรรมที่จำอารมณ์) เจตนา (สภาพธรรมที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไป ตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ) เอกัคคตา (สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง) ชีวิตินทริยะ (สภาพ ธรรมที่รักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และมนสิการะ (สภาพธรรมที่ใส่ใจ สนใจ ในอารมณ์) เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถพิจารณาในทางทวารอื่นๆ ได้เช่น ขณะที่ได้ยิน ก็ต้องมีโสตปสาทะ ต้องมีเสียง ต้องมีจิตได้ยิน และก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง เมื่อได้ฟังได้ศึกษาเรื่องอายตนะแล้ว ย่อมไม่สงสัยเลย เพราะเข้าถึงอรรถ เข้าใจความหมาย ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ แต่สภาพธรรมในขณะที่ได้ยินนั้นเอง มีอะไรบ้าง? จิตได้ยิน เป็นมนายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตได้ยิน เป็นธัมมายตนะ และก็ต้องมีโสตปสาทรูป ขาดไม่ได้เลย เป็นโสตายตนะ และก็ต้องมีเสียงที่กำลังปรากฏตรง นั้น ประชุมอยู่ตรงนั้น เป็นสัททายตนะ ในเมื่อเสียงอื่นที่ไม่ได้ยิน ก็เกิดขึ้นแล้วดับไป โดยไม่เป็นอายตนะ เพราะฉะนั้น ก็สามารถค่อยๆ เข้าใจได้ เพราะความเป็นอายตนะ ก็คือสภาพธรรมที่ประชุมกัน ในขณะที่ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละขณะๆ เมื่อกล่าวถึงความเป็นสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังต่อไป ศึกษาต่อไปความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมที่ ไม่ใช่เรายิ่งขึ้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติใน ชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 12 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ