[คำที่ ๕๕๑] มารธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  19 มี.ค. 2565
หมายเลข  42899
อ่าน  535

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มารธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

มารธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า มา - ระ - ดำ - มะ มาจากคำว่า มาร (ตาย, แตกดับ, สภาพที่มีความดับไปเป็นธรรมดา) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น มารธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า มารธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงที่มีอันต้องแตกดับ หรือ ตาย เป็นธรรมดา ซึ่งมุ่งหมายถึง สิ่งที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีธรรมใดเลยที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ล้วนต้องดับไปทั้งนั้น

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค มารธรรมสูตร แสดงความเป็นจริงของมารธรรม ดังนี้

ท่านพระราธะ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มารธรรม มารธรรม ดังนี้ มารธรรม เป็นไฉนหนอ? พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ดูกร ราธะ รูปเป็นมารธรรม เวทนาเป็นมารธรรม สัญญาเป็นมารธรรม สังขารเป็นมารธรรม วิญญาณเป็นมารธรรม ดูกร ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ครั้นหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ (ความประพฤติประเสริฐ) อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค อรรถกถามารธรรมสูตร ได้อธิบายความหมายของคำว่า มารธรรม ไว้ดังนี้ คือ “คำว่า มารธรรม ได้แก่ มรณธรรม (ธรรมที่มีอันจะต้องดับไป)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป ตั้งแต่เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง โดยชอบ ด้วยพระองค์เอง เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงให้ประโยชน์กับคนอื่นโดยตลอด ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่แสนไกลหรือแม้กระทั่งช่วงเวลาใกล้ที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไปในสังสารวัฏฏ์

ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่คำว่า มารธรรม ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า มีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ซึ่งได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ทุกขณะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ เลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยังยืน เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด ก็ไม่พ้นจากขันธ์เลย ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ล้วนมีจริงๆ เกิดแล้วดับไป ทั้งหมด เป็นขันธ์ และเป็นมารธรรม เพราะมีความดับไปเป็นธรรมดา กล่าวได้ว่า ตายอยู่ทุกขณะๆ

ธรรมที่เป็นมารธรรม ซึ่งหมายถึงขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (เจตสิก ๕๐ ประเภท ที่ปรุงแต่งจิต มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ ล้วนเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมดเป็นมารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และ เห็น มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงประมวลได้ว่า ในขณะที่เห็น มีอะไรบ้างที่เป็นขันธ์ และเป็นมารธรรม กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปขันธ์ จักขุปสาทะ (ตา) ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเห็น ก็เป็นรูปขันธ์ จิตเห็น เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิก ๗ ประเภทเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ ที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพธรรมที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่แกิดร่วมกันกระทำกิจสำเร็จลงไปตามสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ) เอกัคคตา (สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง) ชีวิตินทริยะ (สภาพธรรมที่รักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และมนสิการะ (สภาพธรรมที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดเลย จะมีมารธรรมไหม? ก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรม เกิดแล้ว สภาพธรรม นั่นเอง เป็นมารธรรม เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับไป ไม่สิ้นสุด แต่ละขณะ เพียงชั่วคราว สั้นแสนสั้น แล้วไม่เหลือเลย แล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดถ้าไม่มีการรู้ความจริงของสภาพธรรม เกิดมาแล้วชาติแล้วชาติเล่า ต้องเห็น ต้องได้ยิน เป็นต้น ไม่มีที่สิ้นสุด น่าเบื่อไหม เพราะไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเลยแม้แต่น้อย

ธรรม มีมากทีเดียว จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ตราบใดที่เป็นผู้เห็นประโยชน์ เมื่อฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ไม่ขาดการฟังการศึกษา ความเข้าใจถูกเห็นก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มั่นคงขึ้น จากการที่ไม่รู้เลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ก็เริ่มที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อให้คนที่กำลังฟังในขณะนี้ รู้ตาม ไม่ใช่คิดเอง การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จึงทำให้เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ธรรม เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่า “ทุกขณะ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป” ทำให้ขัดเกลาละคลายความไม่รู้และละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ในขณะนี้ ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งควรค่าการฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 20 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 20 มี.ค. 2565

    ขอบพระคุณ และยินดีในความดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 20 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ