ต้องการอยากจะละกิเลสอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้จักกิเลส
เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครเร่งรัดให้ใครเจริญสติปัฏฐานได้ ไปเอาเด็กมานั่งเข้าแถวแล้วบอกให้เจริญสติปัฏฐาน เด็กไม่รู้จักกิเลสเลย และก็ไม่ได้อยากละกิเลสด้วยแล้วเด็กจะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่ได้หมดกิเลส ผู้ใหญ่ทุกคนก็มีกิเลสคนละเยอะๆ ทั้งนั้น ลองถามผู้ใหญ่แต่ละคนว่าอยากหมดกิเลสไหม ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่อยากหมดกิเลส แม้บางคนจะบอกว่าไม่อยากมีกิเลส แต่เมื่อเอ่ยคำว่า “กิเลส” นั้นรู้จักกิเลสจริงๆ หรือยัง โลภะเป็นกิเลส อยากมีโลภะไหม ไม่ชอบชื่อโลภะแต่ว่าต้องการโลภะทุกขณะ นี่แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะโลภะซึ่งเป็นกิเลส อาหารอร่อยไหมเสื้อผ้าอาภรณ์สวยไหม เพลงนี้เพราะไหม กลิ่นนั้นหอมไหม เก้าอี้อย่างนี้อ่อนนุ่มดีไหม กระทบสัมผัสแล้วสบายไหม นี่คือไม่ชอบชื่อโลภะ แต่ทุกขณะจิตต้องการโลภะ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา
.. จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
ขออนุโมทนา และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับความเห็นโดยบ้านธัมมะ
ธรรมเครื่องเนินช้ามี ๓ ประการ
๑. ตัณหา คือ โลภะ เช่น ในการศึกษาธรรมะมีตัณหาแอบแฝงอยู่หรือไม่ เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะพอใจที่เป็นผู้รู้ธรรมะ หรือว่าเป็นผู้ที่เก่ง แทนที่จะรู้เพื่อขัดเกลายิ่งรู้ก็ยิ่งละ นี้จึงเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง
๒. มานะ คือ ความสำคัญตน เป็นเครื่องกั้นการเจริญของปัญญา เพราะว่าไม่ฟังธรรมจากบุคคลที่ควรฟัง เพราะมีความสำคัญตนประการต่างๆ เช่น สำคัญว่าสูงกว่าเขา เสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา ก็เลยไม่เข้าไปหาไม่เข้าไปนั่งใก้ล ไม่เข้าไปสอบถาม
๓. ทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดทั้งหมด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี หรือ ยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด
โดยทั่วไป เราจะสังเกตเห็นกิเลสอย่างหยาบที่เกิดกับผู้อื่นได้ชัดเจน เช่น เห็นคนบางคนโลภมากอยากได้มาก ถึงกับแสดงออกมาทางกาย หรือ วาจา บางท่านก็อาจจะรู้ตัวเอง ว่าบางขณะตนก็มีกิเลสอย่างหยาบ ที่ทำให้เกิดเผลออยากได้ ล่วงออกมาทางวาจาบ้าง กายบ้าง หรือคิดไว้ในใจด้วยโลภะบ้าง พอระลึกขึ้นมาก็เกิดละอายใจตัวเอง กลัวบาป กลัวผู้อื่นจะว่ากล่าว เสียใจในการกระทำที่ทำไปแล้วก็ติเตียนตนเองจนเป็นทุกข์ คิดอยากจะละทุกข์ อยากจะไม่ให้มีทุกข์ แต่ก็ละไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เพราะเวลาประสบกับสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา ก็เกิดความติดข้องต้องการอีก วนเวียนเข้าออกอยู่อย่างนี้ "แล้วจะละได้อย่างไร จะถึงนิพพานได้อย่างไร ในเมื่อยังคงอยากได้กิเลสอย่างหยาบนั้นๆ แต่ก็หลงลืมสติอยู่เสมอ" อีกประการสำคัญ คือ หากไม่คิดจะศึกษาให้รู้ถึงลักษณะของอกุศลที่มีอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการสั่งสมแต่ความไม่รู้ เมื่อความไม่รู้มีมาก ก็ถูกชักนำโดยอกุศลให้คิดหวังผลโดยง่าย คือ อยากจะได้ อยากจะมี อยากจะถึงนิพพาน (ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จริงถึงความหมายของคำว่า นิพพาน) โดยให้ทำอะไรก็ทำ ขอให้ทำแล้วเห็นผลเร็วๆ เห็นผลทันตา อกุศลใดๆ ก็บอกรู้แล้ว ไม่เอาแล้ว เบื่อแล้ว (แต่ไม่ได้เบื่อจริงๆ ยังเกิดขึ้นกับตัวแต่ไม่รู้) ขันธ์ ๕ นี้ ที่มีอยู่ ก็สักแต่เพียงแหล่งความรู้ ให้ได้ศึกษาถึงกิเลสที่มีในตัว เพื่อการเจริญกุศลทุกประการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติปัฏฐาน ที่จะคลาย เกลา ลด ละ อกุศลธรรมอันลามกทุกประการได้
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
รู้เพื่อละ ถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ รู้อะไร และ ละอะไร
รู้ในที่นี้หมายถึงปัญญา เมื่อปัญญารู้แล้วก็ทำหน้าที่ละ ละอะไร ต้องละสิ่งที่ไม่ดี คือกิเลสครับ ดังนั้น ปัญญาทำหน้าที่รู้แล้วละ โลภะทำหน้าที่ติดข้องไม่ได้ละความไม่รู้ รู้อย่างไรจึงละกิเลส รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ตามปกติเรายึดถือทุกอย่างว่าเป็นคน เป็นเรา เป็นคนนั้นคนนี้ อย่างนี้ชื่อว่ายังไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะยังมีสัตว์บุคคลตัวตน แต่จริงๆ แล้วเป็นธรรม อะไรเป็นธรรม สิ่งที่มีจริง กิเลสเป็นธรรมไหม เช่น โทสะ มีจริงไหม มีจริง จึงเป็นธรรม แล้วถ้าไม่รู้ว่าโทสะเป็นธรรม (ไม่รู้จักกิเลส) จะละกิเลสได้ไหม ไม่ได้เพราะยังยึดถือว่าเป็นเราเป็นสัตว์บุคคลมีความไม่รู้ (อวิชชา) ตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งคำว่าสติปัฏฐานก็คือ การรู้จักกิเลสนั่นเอง รู้จักโดยการรู้ลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อไม่รูจักกิเลส (รู้ลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา) ขณะนั้นก็คือ สติปัฏฐานไม่เกิดนั่นเองหนทางเดียวที่จะดับกิเลสคือรู้จักกิเลสว่าเป็นธรรม เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ปัญญาจึงทำหน้าที่ละความไม่รู้จนสามารถดับกิเลสได้ครับ
ในการรบย่อม รู้จักศัตรูจึงชนะได้ ในการดับกิเลส ย่อมรู้จักศัตรูคือกิเลสว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงจะดับกิเลสได้
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
"จับโจรไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักโจร"
คำพูดนี้มาจากปากของกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ที่ดิฉันรู้จักมานานแสนนาน ซึ่งดิฉันทั้งรักและเคารพท่าน มานานกว่า ๓๐ ปี ยกตัวอย่างของโลภะ คำพูดที่ท่านกล่าว ตามความเข้าใจของดิฉัน คือ เมื่อโลภะ เกิดขึ้นต้องรู้ในลักษณะของความยึดติด ความติดข้องความต้องการที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ปัญญารู้ในลักษณะนั้นว่าเป็นเพียงแค่สภาพธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ลองไปคิดดูนะคะว่าจริงหรือไม่จริง