[คำที่ ๕๕๕] อนวชฺชธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  9 เม.ย. 2565
หมายเลข  42971
อ่าน  461

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนวชฺชธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อนวชฺชธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นะ - วัด - ชะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า (ไม่มี, เป็นคำปฏิเสธ) [แปลง น เป็น อน] วชฺช (สิ่งที่มีโทษ) และคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น อนวชฺชธมฺม แปลว่า ธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นความดี หรือ กัลยาณธรรมทั้งหมด ซึ่งก็คือ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งผลที่ไม่ดีเลยแม้แต่น้อย ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและผู้อื่น และ ที่สำคัญ ความดีที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คือ กุศลธรรมที่เป็นขั้นโลกุตตระ ซึ่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนถึงดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีเหลือ

ข้อความในสัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงความเป็นจริงไว้ว่า ธรรมที่ไม่มีโทษ คือ กุศล ดังนี้

“บทว่า สาวชฺชญฺจ ธรรมมีโทษ คือ อกุศล บทว่า อนวชฺชญฺจ ธรรมไม่มีโทษ คือ กุศล”

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ซึ่งตรงกันข้ามและแตกต่างจากสภาพธรรม ที่เป็นอกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

“กุศล มีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุข เป็นลักษณะ อกุศล มีโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก เป็นลักษณะ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูกคือถูก ผิดคือผิด ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะสภาพธรรม เกิดขึ้นเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จะเปลี่ยนสภาพธรรมอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ เปลี่ยนเห็นให้เป็นได้ยิน ไม่ได้ เปลี่ยนความดีให้เป็นความชั่ว ไม่ได้ เปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดี ไม่ได้ เป็นต้น นี้คือ ความเป็นจริง

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง แตกต่างกันตามการสะสม ซึ่งมีทั้งดี และไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใส) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มี อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โมหะ (ความหลงความไม่รู้ความจริง) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย

อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย อกุศลธรรมก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลธรรมที่เคยได้สะสมมา ก็เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความโกรธความขุ่นเคืองใ

ใจความไม่พอใจ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ ทำร้ายตนเองแล้วในขณะที่โกรธ และถ้าความโกรธ มีกำลังมากขึ้น ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมความโกรธมาแล้ว เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะกิจหน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้องต้องการ ถ้าไม่ได้ในทางที่ชอบ บางคนก็แสวงหาในทางที่ผิด ตามกำลังของความติดข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะ คือ ความไม่พอใจ ตามมาอีก แม้แต่เมื่อได้มาตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี กลัวสูญหาย ไม่อยากพลัดพรากไป เป็นเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่มีโทษโดยตลอด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย โดยมีรากลึกคือ ความไม่รู้ เพราะเหตุว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดเพราะความไม่รู้ ความประพฤติที่ไม่ดีประการต่างๆ เกิดเพราะความไม่รู้

เป็นที่น่าพิจารณาว่า แล้วจะขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร? ทางเดียวจริงๆ ที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดีให้ลดน้อยลงได้ ก็ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น เพราะเหตุว่าอกุศลเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตามก็ไม่ควรประมาท เพราะเหตุว่าจากเล็กๆ น้อยๆ นี้แหละ ที่สะสมไป ในที่สุดก็เป็นอกุศลที่มีกำลังมากและสามารถทำอกุศลกรรมที่ร้ายแรงได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีสำหรับชีวิต ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรมได้อบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาละคลายให้เบาบางลง เพราะอกุศลของตน ใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากอาศัยความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น และถ้าไม่เริ่มขัดเกลาตั้งแต่ในขณะนี้แล้ว นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น เป็นโทษมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย เพราะความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม สะสมธรรมที่ไม่มีโทษ เว้นจากสิ่งที่มีโทษโดยประการทั้งปวง เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 10 เม.ย. 2565

ขอบพระคุณ และ ยินดีในความดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 11 เม.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ