กิริยา คืออะไร
กิริยา คืออะไร ในทางพระไตรปิฏก ขอความหมายอย่างแยบคายด้วยเถิด ถ้ามีความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายความหมายคำว่า กิริยา ไว้โดยตรง ยิ่งดี ยิ่งเป็นประโยชน์ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงลักษณะของกิริยาจิตว่า เป็นเพียงการกระทำและแสดงลักษณะของกิริยาจิตที่ต่างกันโดยกิจว่า
ก็ในบรรดากิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้น ย่อมไม่มีผลเหมือนดอกไม้ลม (วาตปุปฺผํ ซึ่งมูลฎีกาแก้ว่า โมฆปุบฺผํ หมายถึงดอกไม้ที่ไร้ผล) เพราะดอกไม้บางดอก เมื่อร่วงหล่นไปแล้วก็ไม่มีผลฉันใด กิริยาจิตก็ฉันนั้น
กิริยาจิตซึ่งไม่ถึงความเป็นชวนะ คือ ไม่เป็นชวนวิถีจิตนั้น มี ๒ ดวง คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกิจเดียว คือ ทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตทำ ๒ กิจ คือ ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร และทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร
ส่วนกิริยาจิตอื่นๆ ซึ่งถึงความเป็นชวนะนั้นเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินีอุปมาว่า กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ (คือ กิริยาชวนวิถีจิตของพระอรหันต์) กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกของต้นไม้ที่รากขาดเสียแล้วจึงเป็นแต่เพียงการกระทำเท่านั้น เพราะเป็นไปด้วยอำนาจให้สำเร็จกิจนั้นๆ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แม้เพียงคำว่า กิริยา คำเดียว ก็มีความหมายกว้างมากเลย โดยศัพท์ หมายถึง การกระทำ ความหมายจะไม่เปลี่ยนเลย เช่น ปุญญกิริยา หมายถึง กระทำบุญ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่ทำบุญ แต่เป็นสภาพธรรฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่ควรทำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นการทำชั่ว ทำสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นการทำบาป เป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นไป และยังหมายรวมถึงชาติของจิตอย่างหนึ่ง คือ กิริยาชาติ ด้วย ซึ่งเกิดขึ้นเพียงทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...