ทำไมจิตบางดวงจึงมีเจตสิกเพียง 7 ในขณะที่ดวงอื่นมีเกิน 7
ทำไมจิตบางดวงจึงมีเจตสิกเพียง 7 ในขณะที่ดวงอื่นมีเกิน 7
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ย่อมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิต ขณะนั้นๆ ซึ่งทั้งจิตและเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และสำหรับในภูมิที่มีทั้งรูปและนาม จิตและเจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันด้วย (ในภูมิที่มีแต่นามธรรม คือ อรูปพรหมภูมิ จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น)
จิต หลากหลาย ตามอารมณ์ บ้าง ตามภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตบ้าง ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ้าง ดังนั้น จิตจึงหลากหลาย มีมากถึง ๘๙ ประเภท จึงไม่ได้มีเพียงจิตขณะเดียว หรือ ประเภทเดียว
ที่จิตบางประเภท มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ และ บางประเภท มีมากกว่า ๗ ก็เป็นไปตามความเป็นจริงของจิตขณะนั้นๆ ตามเหตุตามผล
สำหรับจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท มีเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่เป็นผลของกุศล และ เป็นผลของอกุศล เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เพราะเป็นเพียงผลของกรรม ที่ทำให้เกิดขึ้นเพียงทำกิจเห็น เป็นต้น แล้วก็ดับไปเท่านั้น จึงไม่ได้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากไปกว่านี้ แต่นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ (แต่ก็ต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วย) เช่น เพราะมีอกุศลเจตสิกประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่รู้ ความไม่สงบ เป็นต้น เกิดกับจิต จิตนั้น ก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งเจตสิกก็ต้องมีมากกว่า ๗ หรือ ในทางฝ่ายที่ดีงาม เพราะมีเจตสิกฝ่ายดี ประการต่างๆ มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมกับจิต จิตนั้นก็ต้องเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งแน่นอนเจตสิกก็ต้องมากกว่า ๗ ประเภทดังกล่าว ทั้งหมดทั้งปวง เป็นความจริงตามเหตุตามผล เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จิต เป็นจิต เจตสิกแต่ละประเภท เป็นเจตสิกแต่ละประเภท เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ครับ
สำหรับความละเอียด
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...