ถวายน้ำเต้าหู้แก่พระภิกษู
ผมเคยถวายน้ำเต้าหู้ แก่พระภิกษูที่จบเปรียญธรรม ๕ ประโยค ตอนนี้ท่านจำวัดที่ อ.เมือง จ.ลำปาง ตอนที่ไปถวายท่านนั้นเป็นช่วงประมาณ ๑ ทุ่ม แต่ท่านไม่อยู่ จึงถวายให้เณรฉันแทน เคยทำอย่างนี้กับพระรูปอื่นที่วัดอีกแห่ง และเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นต้องอาบัติเพราะผมไหม (หมายถึงทั้งพระและเณร)
น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง นมสด ยาคูลท์ โยเกิร์ต โอวัลติน ไวตามิลค์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นโภชนะ (อาหาร) ไม่ใช่น้ำปานะ คือพระภิกษุรับประเคนแล้วฉันได้ชั่วเวลา อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น หลังเที่ยงวันแล้วภิกษุฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าสามเณรฉัน หรือคฤหัสถ์ผู้รักษาอุโบสถ และแม่ชีดื่ม ศีลข้อที่ ๖ (วิกาลโภชนา) ขาด
ฉะนั้น ในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยงวันไปแล้ว ถ้าจะถวายสิ่งของที่ไม่ขัดกับพระวินัย ควรถวายน้ำปานะ คือ น้ำผลไม้ที่ไม่มีกาก
น้ำปานะ ได้แก่ น้ำสัมคั้น แต่ต้องกรองก่อนนะ
ส่วนน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัช
ขออนุโมทนา
เพื่อนผมที่เคยบวช บอกว่าดื่มนมโคได้ในตอนเย็นเวลาได้รับนิมนต์ไปสวดอภิธรรมในงานศพ แถมยังบอกว่าห้ามดื่มน้ำผลไม้หลังเที่ยงวันเพราะมีกาก อย่างนี้เค้าก็ต้องอาบัติสิครับ
จาก คห.2 ขอเรียนถาม มศพ.ว่า น้ำอ้อย, น้ำผึ้ง เป็นเภสัช หรือ ปานะ หรือ เป็นได้
ทั้ง ๒ อย่าง
ตอบความเห็นที่ 7
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัช แต่ถ้าเอาน้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย มาปรุงรส
คือผสมกับน้ำผลไม้ก็จัดเป็นน้ำปานะค่ะ
สิ่งที่เป็นเภสัชถ้าพระภิกษุจะฉัน ต้องมีเหตุ เช่น เจ็บป่วย ถ้าไม่มีเหตุ ฉัน ต้องอาบัติ ครับ
เคยเห็นที่วัดบางแห่ง หลังเที่ยงตอนเย็นจะมีนมถั่วเหลือง (ไวตามิลค์) , กาแฟไม่ใส่นม, โอวัลตินไม่ใส่นมเตรียมไว้ให้อุบาสกที่อยู่ที่วัดที่ถือศีลแปดหรืออุโบสถศีลดื่มกัน อย่างนี้คนที่ดื่มศีลก็ขาดสิคะ แล้วทำไมทางวัดยังจัดเตรียมให้อีกล่ะคะ
ถ้าเขารู้ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เขาย่อมไม่กระทำเช่นนั้น ที่ทำไปเพราะความไม่รู้
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 748
[อธิบายอานิสงส์ ๕ ว่าด้วยการต้องอาบัติ ๖ อย่าง]
สีลขันธ์ของตน เป็นอันวินัยธรบุคคลนั้นคุ้มครอง รักษาดีแล้ว อย่าไร? คือ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อต้องอาบัติ ย่อมต้องด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ ด้วยความไม่ละอาย ๑ ด้วยความไม่รู้ ๑ ด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ ๑ ด้วยความสำคัญในของไม่ควรว่าควร ๑ ด้วยความสำคัญในของควรว่าไม่ควร ๑ ด้วยความหลงลืมสติ ๑.