แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  11 พ.ค. 2565
หมายเลข  43098
อ่าน  600

โส ภควา อิติปิ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๕๙

[แก้อรรถบท วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน]

ส่วนที่ทรงพระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ก็เพราะทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาทั้งหลายและจรณะด้วย ใน ๒ บทนั้น บทว่าวิชชา หมายเอาทั้งวิชชา ๓ ทั้งวิชชา ๘ วิชชา ๓ พึงทราบตามนัยที่กล่าวใน ภยเภรวสูตร วิชชา ๘ พึงทราบตามนัยที่กล่าวในอัมพัฏฐสูตรเถิด ก็ อัมพัฏฐสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเอาอภิญญา ๖ กับ วิปัสสนาญาณ และมโนมยิทธิ ตรัสเป็นวิชชา ๘

ธรรม ๑๕ ประการนี้ คือ สีลสังวร อินฺทฺริเยสุคุตฺตทฺวารตา (ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย) โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ (คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา) รูปาวจรฌาร ๔ นี่แล พึงทราบว่า ชื่อจรณะ แท้จริง ธรรม ๑๕ ประการนี้นั่งเอง ท่านเรียกว่า จรณะ เพราะเป็นทางดำเนินไปถึงทิศอมตะแห่งพระอริยสาวก ดังพระอานนทเภระกล่าว (แก่เจ้ามหานามศากยะว่า) ว่า “ดูกรมหานาม อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล” อังนี้เป็นอาทิ คำ (ของพระอานนท์) ทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบตามนัยที่กล่าวใน (เสขปฏิปทาสูตร มัชฌิมนิกาย) มัชฌิมปัณณาสกะนั้นเทอญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาเหล่านี้ และจรณะนี้ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงได้พระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ในความถึงพร้อม ๒ อย่างนั้น ความถึงพร้อมด้วยวิชชาสร้างความเป็นพระสัพพัญญูแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้นแล้วตั้งอยู่ พระองค์ทรงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ทรงเว้นสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์เสีย ทรงชักนำแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้กอปรด้วยพระมหากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง เยี่ยงท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (หมายถึงเป็นความประพฤติปฏิบัติที่เยี่ยงอย่างทางดำเนินของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ) เพราะเหตุนั้น สาวกทั้งหลายของพระองค์จึงเป็นผู้ปฏิบัติดี ไม่เป็นผู้ปฏิบัติชั่ว ดุจพวกสาวกของเจ้าลัทธิทั้งหลายผู้ขาดวิชชาและจรณะ ที่เป็นบุคคลจำพวกทำตนให้ร้อน (ทรมานตัวเองให้ลำบาก) เป็นอาทิ ฉะนั้น

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ตามนัย ดังนี้

วิชชา หมายถึง ปัญญาที่เป็นความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ท่านแสดงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงประกอบไปด้วยทั้ง วิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้

วิชชา ๓ ประกอบด้วย

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้, ระลึกชาติได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญาญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม, เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณ ปัญญาญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ

โดยปัญญาที่ระลึกชาติและปัญญาที่รู้การตายการเกิดของสัตว์เป็นผลจากการอบรมเจริญสมถภาวนา ส่วนปัญญาที่รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นผลจากการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา

วิชชา ๘ ประกอบด้วย

อภิญญา หมายถึง ความรู้ยิ่ง หรือความรู้อย่างยิ่งยวด ได้แก่

๑. อิทธิวิธญาณ ความรู้ที่ทำให้แสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น ดำไปในดิน เดินไปบนน้ำ หรือเหาะไปกลางอากาศ เป็นต้น

๒. ทิพยโสตญาณ ความรู้ที่ทำให้ได้ยินเสียงตามที่ต้องการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นในที่ไกล ในที่ลับ หรือเสียงของเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลาย

๓. เจโตปริยญาณ ความรู้ที่สามารถกำหนดรู้ใจของผู้อื่น ไม่ว่าจะคิดดีคิดชั่ว คิดเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ทำให้สามารถย้อนระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นใครในชาติไหน แต่ละชาตินั้นได้ทำอะไรมาบ้าง มีญาติ พี่น้อง ตระกูลอาชีพเป็นอย่างไรบ้าง

๕. ทิพยจักษุญาณ ความรู้ที่ทำให้สามารถเห็นในสิ่งที่ต้องการเห็น ไม่ว่ารูปในที่กำบัง รูปหลังกำแพง รูปในภูเขา หรือรูปอันเป็นทิพย์ของเทวดา เห็นการบังเกิดของหมู่สัตว์ในภพทั้ง ๓ เป็นต้น

๖. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้อาสวกิเลสถึงความสิ้นไป (เป็นปัญญาที่รู้แจ้งพระนิพพาน บางนัยแสดงถึงปัญญาที่เป็นไปในอรหัตตมรรค ตามที่แสดงโดยอรรถกถาสามัญญผลสูตร)

๗. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่เห็นแจ้ง ปัญญาที่เห็นอย่างวิเศษ ปัญญาที่เห็น (ธรรม) โดยประการต่างๆ หมายถึง ความสมบรูณ์ของปัญญา ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการอบรมสติปัฏฐาน (แสดงไว้ ๑๖ขั้น)

๘. มโนมยญาณ ความรู้ที่น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ ที่เป็นกายอื่นไม่ใช่กายของตนเอง โดยมีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน ไม่บกพร่อง

จรณะ หมายถึง ความประพฤติเป็นไปในทางที่ดี หรือเครื่องดำเนินไปสู่ทิศอมตธรรมของพระอริยสาวก มี ๑๕ ประการดังนี้

๑. สีลสังวร ความไม่ละเมิดศีล ได้แก่ สิกขาบท เป็นต้น ทางกาย ทางวาจา ไม่ละเมิดทั้งทางกายทั้งทางวาจา

๒. อินฺทฺริเยสุคุตฺตทฺวารตา ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายถึงการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริง ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะที่ ว่ารูปที่ปรากฏงามบ้าง เที่ยงบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นไปกับอกุศล

๓. โภชเนมัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นผู้พิจารณาโดยแยบคายก่อนกิน ไม่ใช่กินเพื่อเล่น เพื่อเมา เพื่อตกแต่ง เพื่อประเทืองผิว แต่เพื่อยังชีวิตินทรีย์แห่งกายนี้ให้เป็นไป เพื่อระงับความหิว เพื่อข้ามภพกันดาร เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เป็นต้น

๔. ชาคริยานุโยค เป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่การนอน

สัทธรรม ๗ หมายถึง ธรรมของผู้สงบคือสัตบุรุษ ได้แก่

๕. ศรัทธา เป็นผู้มีศรัทธาที่จะทำความดี

๖. หิริ เป็นผู้ละอายที่จะกระทำชั่ว

๗. โอตตัปปะ เป็นผู้เกรงกลัวต่อบาป

๘. พาหุสัจจะ เป็นผู้ฟังมากเล่าเรียนมากในพุทธพจน์

๙. วิริยะ เป็นผู้มีความเพียรในธรรมฝ่ายดี

๑๐. สติ เป็นผู้มีสติมั่นคง

๑๑. ปัญญา เป็นผู้มีปัญญา

รูปวจรฌาน ๔

ฌานนั้นหมายถึง การเพ่งอารมณ์ หรือการเผาธรรมอันเป็นข้าศึก หมายถึง นิวรณ์ ๕ ซึ่งฌานนั้นเกิดจากการอบรมเจริญกามาวจรกุศลจิตจนสงบมั่นคงขึ้นเป็นสมถภาวนาสมถภาวนา เมื่อกามาวจรกุศลจิตสงบมั่นคงขึ้น เป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนจิตแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิขณะใด ขณะนั้นก็เป็นรูปาวจรกุศลจิต (รูปฌานกุศลจิต) พ้นจากสภาพของกามาวจรจิต ได้แก่

๑๒. ปฐมฌาน ได้แก่ ฌานที่มี วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัตคตา เป็นองค์ฌาน

๑๓. ทุติยฌาน ได้แก่ ฌานที่มี ปิติ สุข เอกัตคตา เป็นองค์ฌาน

๑๔. ตติยฌาน ได้แก่ ฌานที่มี สุข เอกัตคตา

๑๕. จตุตถฌาน ได้แก่ ฌานที่มี อุเบกขา เอกัตคตา เป็นองค์ฌาน


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ