คนขยันทักคนมีวิริยะ คนเกียจคร้านมีวิริยะไหมครับ

 
lokiya
วันที่  18 พ.ค. 2565
หมายเลข  43124
อ่าน  505

คนขยันทักคนมีวิริยะ คนเกียจคร้านมีวิริยะไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิริยะเป็นเจตสิก หรือ ความเพียร เป็นปกิณณกเจตสิก ดังนั้น จึงสามารถเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตได้ ขณะใดที่เป็นไปในอกุศล ก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีความเพียร อุตสาหะที่เป็นไปในอกุศล ขณะใดที่เป็นไปในกุศลก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สำหรับ ความเพียร นั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ วิริยเจตสิก ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เพียรที่เป็นกุศลก็มี เพียรที่เป็นอกุศล ก็มี

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ความเข้าใจพระธรรม จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดให้สอดคล้องทั้ง ๓ ปิฎก ดังนั้น เมื่อศึกษาพระอภิธรรม ก็เข้าใจครับว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่ธรรม และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเรา ไม่มีบุคคลที่จะล่วงทุกข์ ที่จะทำความเพียร แต่เป็นหน้าที่ของธรรมที่จะทำให้ละกิเลสได้

ซึ่งในความเป็นจริง ความเพียรที่เป็น วิริยเจตสิก เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท แม้ในขณะที่อกุศลจิตเกิดก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในอกุศล แม้ในขณะที่กุศลจิตก็มีความเพียรแล้ว เพียรเป็นไปในกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ โดยไม่รู้ตัวเลย มีความเพียรเกิดอยู่ ที่เป็นวิริยเจตสิก ไม่ต้องทำความเพียรก็มีความเพียรเกิดแล้ว เกิดกับจิตเกือบทุกขณะ จึงไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะทำความเพียร ให้ความเพียรเกิดขึ้นเลย ครับ ซึ่งแม้แต่ตอนขี้เกียจ ก็มีวิริยเจตสิก เพียรที่จะขี้เกียจต่อไป ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่าน อ.สุจินต์ดังนี้ครับ

ผู้ถาม อยากจะถามเกี่ยวกับเรื่องความขี้เกียจ คือความขี้เกียจมีจริงแน่นอน เป็นธรรมด้วย แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องความขี้เกียจ

สุ. ก็สอนว่าเป็นธรรม เราลืมเสมอเป็นเราขี้เกียจ ไม่ชอบความขี้เกียจ ไม่อยากจะขี้เกียจ แต่ไม่รู้ธรรม เพราะฉะนั้นชาตินี้อาจจะขยัน ชาติหน้าก็ขี้เกียจได้ ขณะนี้กำลังขี้เกียจ ต่อไปก็อาจจะขยันได้แล้วแต่เหตุปัจจัย ขยันทำอะไรเวลาที่บอกว่าขี้เกียจ

ผู้ถาม อย่างเช่นบางทีก็ขยันฟังเพลง แต่ขี้เกียจอ่านหนังสือเรียน

สุ. เพราะฉะนั้นก็ต้องมีขยันอย่างหนึ่ง ขี้เกียจอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ตามการสะสม

ผู้ถาม แล้วความขี้เกียจนี้คือเป็นวิริยเจตสิก

สุ. วิริยะเกิดกับจิตทุกดวงเว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง ซึ่ง ๑๐ ดวงนี้ทุกคนรู้ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๑๐ แล้ว อีก ๖ ดวง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ปัญจทวาราวัชชนะ

ผู้ถาม ยังตอบตัวเองไม่ได้

สุ. ยังตอบตัวเองไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่าขณะนี้ก็มีวิริยะเกิดแล้ว โลภะเกิดขณะใด วิริยะก็เกิดแล้ว โมหมูลจิตเกิดขณะใดก็มีวิริยะเกิดแล้วร่วมกันไป เว้น ๑๖ ขณะ ๑๖ ประเภทเท่านั้นที่ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก่อน ๑๐ ดวงจะเกิด จิตที่เกิดก่อนวิถีจิตแรก ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องมี อาศัยการประจวบกันอุปัติเหตุของสภาพธรรมที่กรรมเป็นปัจจัย ทำให้จักขุปสาทที่ยังไม่ดับ รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับกระทบกัน เป็นปัจจัยให้เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิด นี่เป็นกระแสของชีวิต เป็นวิญญาณจริยา เมื่อเกิดแล้วความเป็นไปของวิญญาณจะต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิญญาณ ๑๐ ดวง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ไม่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย ๑๑ สัมปฏิจฉันนะ ๒ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต่อไป สันตีรณะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ขณะแล้ว จิตอื่นทั้งหมดๆ นี่ไม่เว้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น วิริยะ ความเพียร มีจริงๆ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งถ้าได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า วิริยะ เกิดกับจิตใดบ้าง ไม่เกิดดับจิตใดบ้าง ก็จะคลายความสงสัย เพราะได้เข้าใจ ว่า ความเพียร ไม่เกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้น จิตนอกนั้น มีวิริยะเกิดร่วมด้วย วิริยะเกิดกับจิตชาติใด ก็มีความเสมอกันกับชาตินั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะขยัน หรือ เกียจคร้าน ก็มีวิริยะเกิดขึ้นเป็นไป เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ครับ

....ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
lokiya
วันที่ 18 พ.ค. 2565

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ