[คำที่ ๕๖๑] นปฺปติฏฺฐาติ

 
Sudhipong.U
วันที่  19 พ.ค. 2565
หมายเลข  43130
อ่าน  648

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นปฺปติฏฺฐาติ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

นปฺปติฏฺฐาติ อ่านตามภาษาบาลีว่า นับ - ปะ - ติด - ถา - ติ มาจากคำว่า น (ไม่, คำปฏิเสธ) กับคำว่า ปติฏฺฐาติ (ย่อมตั้งมั่น) [ซ้อน ปฺ หลัง น] รวมเป็น นปฺปติฏฺฐาติ แปลว่า ย่อมไม่ตั้งมั่น ในที่นี้จะนำเสนอในความหมายว่า ย่อมไม่ตั้งมั่นในกุศล ไม่ตั้งมั่นในคุณความดี เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลจิตและเจตสิกธรรม ที่เกิดร่วมด้วยนั่นเอง ที่จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ มี อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) เป็นต้น เกิดพร้อมกับจิตในขณะนั้น จึงทำให้จิตเป็นอกุศล เมื่อมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากมาย ในขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ย่อมทำให้เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศล เป็นผู้เคลื่อนไปจากกุศล ตกไปจากกุศล และที่หนักที่สุด คือเคลื่อนไปจากพระพุทธศาสนา ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรมซึ่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้ถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลส

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จวนสูตร แสดงถึงอกุศลธรรม ๕ ประการที่ให้เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้ไม่มีหิริ (ไม่มีความละอายต่อบาป) ภิกษุผู้ไม่มีโอตตัปปะ (ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป) ภิกษุผู้เกียจคร้าน ภิกษุผู้มีปัญญาทราม ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา แต่ละคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของอกุศลทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในอกุศลธรรม ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็จะไม่เข้าใจและไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้มากอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสก็ยังไม่สามารถที่จะละอกุศลได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ

ทุกส่วนของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหมด ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาด้วย เพราะธรรม เป็นธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น

โดยธรรมดาของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมาก มีความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศลประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แม้แต่วันนี้วันเดียว อกุศลเป็นอันมากเกิดขึ้นกลุ้มรุมทำร้ายจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งทั้งหมด ก็คือ ธรรม สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อมีกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ส่วนใหญ่แล้ว หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น เป็นต้น จิตก็ย่อมหวั่นไหวไปในทางอกุศล มีความติดข้องพอใจ เป็นต้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่ออกุศลมีกำลังมากขึ้น สะสมมากขึ้น ก็ทำให้หวั่นไหวไปในการประพฤติล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ที่เป็นการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเบียดเบียนตนเองโดยตรงแล้วยังเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของปุถุชนผู้มากไปด้วยกิเลส มีโทษมากจริงๆ ซึ่งจะประมาทกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว ควรที่จะเห็นโทษของกิเลสตามความเป็นจริงด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการที่ได้อาศัยพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

เรื่องของอกุศลเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การสะสมทางฝ่ายอกุศลนั้น เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มีอกุศลจิตที่หลากหลายมาก ที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม เพราะถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ข้อความในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาทั้งหลาย ก็จะมากไปด้วยบท พยัญชนะ ประมาณมิได้ ที่แสดงในเรื่องของอกุศลและกุศลโดยละเอียด โดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้ผู้ศึกษาได้เห็นโทษของอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศล และเพื่อที่จะได้เห็นประโยชน์ของกุศล เพื่อที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ

ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลย ขณะใดก็ตามที่เป็นโอกาสที่กุศลจะเกิด ถ้าทิ้งโอกาสนั้น พลาดโอกาสนั้น โอกาสของกุศลก็หมดไป แต่ละหนึ่งขณะๆ เมื่อเพิ่มมากขึ้นๆ ก็ยิ่งมาก เมื่อพลาดโอกาสของกุศลมากขึ้นๆ ก็เป็นการเพิ่มอกุศลให้มากขึ้น เพราะถ้ากุศลไม่เกิด เป็นเป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศล หนักไปด้วยอกุศล เป็นผู้ตกไปจากกุศล และที่หนักที่สุด คือ ไม่มีปัญญา เป็นผู้เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เผยแพร่ความเห็นผิด ซึ่งทำลายทั้งตนเอง ทำลายทั้งผู้อื่น และ ทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นผู้ประทุษร้ายพระสรีระของพระองค์ เป็นโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ซึ่งจะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง เพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลาละคลายอกุศลที่มีมากเป็นอย่างยิ่ง ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะปัญญา นี้เอง เป็นสภาพธรรมที่จะอุปการะเกื้อกูลนำไปในคุณความดีทั้งปวง ทำให้มีความมั่นคงในกุศลธรรม ป้องกันไม่ให้ตกไปในทางฝ่ายอกุศลโดยประการทั้งปวง จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแล้วที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมและสะสมความดีเป็นที่พึ่งต่อไป เพราะความชั่วหรืออกุศลธรรมทั้งหลายเป็นที่พึ่งไม่ได้เลยแม้แต่น้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 19 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 19 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ