แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสุคต [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  24 พ.ค. 2565
หมายเลข  43152
อ่าน  812

โส ภควา อิติปิ สุคโต แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสุคต

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๖๑

[แก้อรรถบท สุคโต ๔ นัย]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะเป็นผู้มีทางเสด็จไปอันงาม ๑ เพราะเสด็จไปแล้วสู่ที่อันดี ๑ เพราะเสด็จไปแล้วโดยชอบ ๑ เพราะตรัสโดยชอบ ๑

[นัยที่ ๑ ผู้มีทางเสด็จไปอันงาม]

เพราะว่า แม้คมนะ (ทางไป) ก็ใช้ว่า “คต” ได้ ก็แลทางไปนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นทางงาม คือเป็นทางสะอาด หาโทษมิได้ ถามว่า ก็ทางไปนั้นคืออะไร ตอบว่าคืออริยมรรค จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปไม่ข้องขัดสู่ทิศอันเกษมได้ก็ด้วยทางไปอันนั้น เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความเป็นผู้มาทางเสด็จไปอันงาม

[นัยที่ ๒ ผู้เสด็จไปสู่ที่อันดี]

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปแล้วสู่ที่อันดี คือพระอมตนิรพาน เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราความเป็นผู้เสด็จไปสู่ที่อันดีแล้ว ประการ ๑

[นัยที่ ๓ ผู้เสด็จไปโดยชอบ]

อนึ่ง พระองค์เสด็จไปแล้วโดยชอบ คือ ไม่กลับมาสู่กิเลสทั้งหลายที่ทรงละได้แล้วด้วยมรรคนั้นอีก สมคำที่กล่าวไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค?) ว่า กิเลสเหล่าใด ทรงละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค พระองค์ไม่ทรงคืนมา ไม่ทรงหวนมา ไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น เหตุนั้น พระองค์จึงเป็นสุคโต ฯลฯ กิเลสเหล่าใด ทรงละแล้วด้วยอรหัตตมรรค พระองค์ไม่ทรงคืนมา ไม่ทรงหวนมา ไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น เหตุนั้น พระองค์จึงเป็น สุคโต ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง เสด็จไปโดยชอบ คือ ทรงทำแต่ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่โลกทั้งปวง ด้วยพระสัมมาปฏิบัติ เพราะทรงบำเพ็ญพระสมดึงสบารมีจำเดิมแต่ (กาลที่ตั้งพระปณิธาน) แทบบาทมูลพระพุทธทีปังกร ตราบเท่าถึงกาลที่พระโพธิญาณแจ่มใส และทรงดำเนินไป (เป็นมัชฌิมา)

ไม่เข้าใกล้อันตะ (๒ คู่) คือ สัสสตะ อุจเฉทะ (คู่ ๑) กามสุขะ อัตตกิลมถะ (คู่ ๑) เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความที่เสด็จไปโดยชอบ (ดังนี้) ประการ ๑

[นัยที่ ๔ ผู้ตรัสโดยชอบ]

อนึ่ง พระองค์ย่อมตรัสโดยชอบ คือทรงกล่าววาจาแต่ที่ควร ในฐานะอันควร เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความที่ตรัสโดยชอบประการ ๑ (ความในอภัยราชกุมารสูตรต่อไป) นี้ เป็นสูตรสาธกในความข้อนั้น คือ

(๑) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น

(๒) แม้วาจาใด ตถาคตรู้ว่า เป็นวาจาจริงแท้ (แต่ว่า) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ด้วย แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่กล่าว

(๓) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่า เป็นวาจาจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ในข้อนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น

(๔) ตถาคตรู้วาจาใดว่า เป็นวาจาไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้น

(๕) แม้วาจาใด ตถาคตรู้ว่า เป็นวาจาจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ถึงวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ แม้วาจานั้นตถาคตก็ไม่กล่าว

(๖) ส่วนวาจาใด ตถาคตรู้ว่า เป็นวาจาจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นๆ ในข้อนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาลที่จะใช้วาจานั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตพึงทราบว่าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะความตรัสชอบ ดังกล่าวมาฉะนี้ประการ ๑

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสุคต” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นพระสุคต ตามนัยทั้ง ๔ ดังนี้

๑. เป็นผู้มีทางเสด็จไป (คต) อันดี ซึ่งทางนั้นได้แก่ อริยมรรค ซึ่งหมายถึง

อริย (ผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ประเสริฐ) +มคฺค (ทางเดิน หนทาง)

หนทางที่ทำให้เป็นพระอริยเจ้า หมายถึง เจตสิก ๘ ประเภท ที่เกิดพร้อมกับมัคคจิตทำกิจประหาณกิเลสคือมิจฉาทิฎฐิ อวิชชา และกิเลสในฐานเดียวกัน ตามกำลังของมรรคแต่ละขั้น ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือปัญญาเจตสิก ละมิจฉาทิฏฐิ

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือวิตกเจตสิก ละมิจฉาสังกัปปะ

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ คือสัมมาวาจาเจตสิก ละมิจฉาวาจา

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือสัมมากัมมันตเจตสิก ละมิจฉากัมมันตะ

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือสัมมาอาชีวเจตสิก ละมิจฉาอาชีวะ

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือวิริยเจตสิก ละมิจฉาวายามะ

๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือสติเจติสิก ละมิจฉาสติ

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ คือเอกัคคตาเจตสิก ละมิจฉาสมาธิ

๒. เป็นผู้เสด็จไปสู่ที่อันดี ซึ่งที่อันดีนั้น หมายถึง นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส เมื่อมรรคจิตเกิดขึั้น และเป็นสภาพธรรมที่ดับขันธ์ทั้งปวงเมื่อมีการปรินิพพานของพระอรหันต์

๓. เป็นผู้เสด็จไปด้วยดี มี ๒ นัย ได้แก่

- การไปโดยไม่กลับมาสู่กิเลสอีก ด้วยการอบรมเจริญปัญญา สติปัฏฐาน วิปัสนาญาณ จนกระทั่งสามารถละกิเลสได้ด้วยมรรคญาณ มีโสตาปัตติมรรค เป็นต้น เมื่อมรรคญาณนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น โสตาปัตติมรรค กิเลสที่ดับแล้วด้วยโสตาปัตติมรรค ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพรตปรามาส เป็นต้น ย่อมไม่เกิดขึ้นได้อีกเลย และมรรคที่สูงขึ้นอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรค

- การเสด็จไปเพื่อทำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่โลก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งปณิธานเพื่อถึงความเป็นพระพุทธเจ้า กับพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยยังเป็นสุเมธดาบส จนกระทั่งอบรมบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ จนกระทั่งตรัสรู้ และแสดงธรรม และปรินิพพาน ทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งสิ้น

๔. เป็นผู้ตรัสด้วยดี คือ เป็นผู้รู้ว่าวาจาใดควรกล่าว และไม่ควรกล่าว ในกาลใดที่เหมาะสม เช่น วาจาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นวาจาที่จริงหรือไม่จริง ไม่ว่าวาจานั้นจะเป็นที่รักที่ชอบใจของใครๆ หรือไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่กล่าว ส่วนวาจาที่จริงที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ว่าวาจานั้นจะเป็นที่รักที่ชอบใจของใครๆ หรือไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมรู้กาล ที่ควรจะกล่าว


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ