[คำที่ ๕๖๒] ขณิกมรณ

 
Sudhipong.U
วันที่  28 พ.ค. 2565
หมายเลข  43165
อ่าน  472

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ขณิกมรณ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ขณิกมรณ อ่านตามภาษาบาลีว่า ขะ - นิ - กะ – มะ - ระ - นะ มาจากคำว่า ขณ (ช่วงระยะเวลาที่แสนสั้น, ขณะ) กับคำว่า มรณ (ตาย, แตกดับ) [ลง อิก ปัจจัย] รวมกันเป็น ขณิกมรณ เขียนเป็นไทยได้ว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทุกขณะ, แตกดับทุกขณะ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน การดับไปของนามธรรมและรูปธรรมทุกๆ ขณะ เป็นขณิกมรณะ จะเห็นได้ว่า นามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย มีการเกิดและการตายอยู่ตลอดเวลา

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ได้อธิบายความเป็นจริงของ ขณิกมรณะ ดังนี้ “เมื่อชีวิตยังเป็นไป ความแตกดับ แห่งรูปธรรมและนามธรรม ชื่อว่า ขณิกมรณะ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง หมายความว่า เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ สิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดง พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง สิ่งที่มีจริงนั้นไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไปได้ ไม่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน เมื่อประมวลแล้ว จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด และรูปทั้งหมด เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งตายอยู่ทุกขณะ

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิต

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ (คือมีทั้งรูปและนาม) เจตสิกก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) โมหะ (ความหลง ไม่รู้) สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เป็นต้น

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) เป็นต้น รูปธรรม เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน รูปมีมากมายมีทั้งรูปที่เป็นภายในและภายนอก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ รูปแต่ละกลุ่มจะไม่ปะปนกัน กล่าวคือ รูปที่เกิดจากกรรม ไม่ใช่รูปกลุ่มเดียวกัน

กับรูปที่เกิดจากจิต เป็นต้น และรูปจะไม่ปะปนกันกับนามธรรมอย่างเด็ดขาด อายุของรูปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ มีอายุที่ยาวนานกว่าจิต (และเจตสิก) เพราะจิตมีขณะย่อย ๓ อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งจิต เจตสิก และ รูป นั้น สั้นแสนสั้นจริงๆ ไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งความเป็นไปของสภาพธรรมได้เลย เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ตายอยู่ทุกขณะจริงๆ เมื่อเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดดับ ตายอยู่ทุกขณะ แล้วจะเป็นเรา หรือ เป็นของของเราได้อย่างไร นี้คือความจริง ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม (จิต และเจตสิก) และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรม ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงเหล่านี้เลย

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม ที่ได้ฟังได้ศึกษา ก็เพื่อความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ พระธรรมแม้จะยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ ที่สำคัญคือไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่างเว้นจากการฟังพระธรรม และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หนทางแห่งการอบรม เจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ในที่สุด ดังนั้น การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลตั้งแต่ต้น เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความจริงใจ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ดำเนินไปในหนทางที่ผิด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nui_sudto55
วันที่ 8 พ.ค. 2567

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ