สละความเห็นแก่ตัว

 
khampan.a
วันที่  10 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43221
อ่าน  852

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๗๒๔]

สละความเห็นแก่ตัว


การฟังธรรมเพื่อละความติดข้องเพราะความไม่รู้ ซึ่งจะละได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้เข้าใจเพิ่มขึ้น การละคลายก็จะค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะให้เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ ก็เป็นสิ่งซึ่งสละความเห็นแก่ตัว

เพราะฉะนั้น ทาน สละความติดข้องในวัตถุที่ให้ แม้ว่าเป็นธรรมทาน บางคนหวงคำพูดดีๆ เก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้ไปเลย เอาไว้เวลานั้นเวลานี้ก็ได้ หรือเราจะแสดงให้คนได้เข้าใจเฉพาะบางที่บางแห่ง ก็ไม่สมควร เพราะใครจะรู้ว่าขณะต่อไปจะมีชีวิตอยู่หรือเปล่า? ให้ทันทีเท่าที่สามารถจะให้ได้ตามกำลังของปัญญา เพราะผู้ที่ยังเป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามี ก็ย่อมจะมีความติด แต่ว่าประการแรกที่จะต้องละเหนือสิ่งใดคือการเป็นเราหรือว่าเป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น บางคนคิดมากเรื่องอื่น เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องกิจกรรม เรื่องกิจการ เรื่องประโยชน์แต่ละอย่าง แต่ว่าจริงๆ แล้ว ลืมว่าขณะนั้นเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรมซึ่งไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป และจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ สูญสิ้นทุกอย่างหมดที่เข้าใจว่ามี ความฉลาด ความคิด ความสามารถอะไรทุกอย่าง ไปสู่แม้ความเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรกหรือเป็นเปรต เป็นอสุรกายก็ได้

เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาท ละเอียดมาก ทุกขณะที่สามารถที่จะมีปัจจัยที่จะทำให้ระลึกได้ในการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่ไปสละโลภะโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม อารักขา (รักษา) คือสติที่สามารถที่จะเกิดขึ้นเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแต่อารักขาไม่ให้อกุศลจิตเกิด ไม่เป็นไปในโลภะ ในโทสะ แต่ต้องเพื่อการเห็นถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 11 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 มิ.ย. 2567

ก่อนอื่นไม่ใช่ไปสละโลภะโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม
อารักขา (รักษา) คือสติที่สามารถที่จะเกิดขึ้นเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแต่อารักขาไม่ให้อกุศลจิตเกิด ไม่เป็นไปในโลภะ ในโทสะ แต่ต้องเพื่อการเห็นถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณอ.คำปั่นด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ