[คำที่ ๕๖๕] อคุณ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อคุณ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
อคุณ อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - คุ - นะ มาจากคำว่า น (ไม่) กับคำว่า คุณ (คุณ,ประโยชน์) [แปลง น เป็น อ] จึงรวมกันเป็น อคุณ แปลว่า โทษมิใช่คุณ, สิ่งที่ไม่ใช่คุณ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะถ้ากล่าวถึงสิ่งที่มีโทษ สิ่งที่เป็นโทษมิใช่คุณ สิ่งที่ไม่ใช่คุณ ก็ต้องเป็นอกุศลธรรมเท่านั้น เพราะเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ไม่นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่โทษเท่านั้น ตัวอย่างตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก สัจจังกิรชาดก ได้แสดงถึงโทษมิใช่คุณ ของพระเทวทัต ดังนี้
ภิกษุสงฆ์ประชุมกันในธรรมสภา สนทนากันถึงโทษมิใช่คุณของพระเทวทัตว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตมิได้รู้คุณของพระศาสดา ยังจะพยายามเพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์เสียอีก
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มาตังคชาดก ได้แสดงว่า ความชั่วประการต่างๆ นั้น เป็นโทษมิใช่คุณ ดังนี้
กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ คือ ชาติมทะ (ความมัวเมาเพราะชาติกำเนิด) ๑ อติมานะ (ความดูหมิ่นท่าน) ๑ โลภะ (ความโลภ ความติดข้อง) ๑ โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ๑ มทะ (ความประมาทมัวเมา) ๑ โมหะ (ความหลง) ๑ ทั้งหมด เป็นโทษมิใช่คุณ
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำสอนที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจความจริงตามพระองค์ด้วย คำสอนของพระองค์เป็นสัจจธรรม เป็นความจริง ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง และรู้จักสิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามความเป็นจริง จนกระทั่งดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น
ในชีวิตประจำวัน แต่ละคนก็มีกิเลสมากด้วยกันทั้งนั้น เพราะเคยได้สะสมมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ กิเลสเมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และเกิดขึ้นบ่อยมากเกือบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่กิเลสจะเกิดขึ้น แสดงถึงความละเอียดเหนียวและหนาแน่นมากมายของกิเลส เพราะเหตุว่ากิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้ถูกดับด้วยปัญญาในระดับที่เป็นโลกุตตระ ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่ากิเลสจักไม่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นบุคคลผู้อบรมเจริญความสงบของจิต จนได้ไปเกิดในพรหมโลก กิเลสก็ยังเกิดได้ หนีไม่พ้นเลย และการที่จะดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาดนั้น ไม่มีหนทางอื่น ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าไปทางอื่น ก็จะเข้าใจผิด เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ถูกหมักหมมทับถมด้วยกิเลสมากยิ่งขึ้นต่อไป เท่ากับว่ายิ่งเพิ่มโทษให้กับตนเอง เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่มีปัญญารู้ความจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตรงตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เลย ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่รู้เลยว่าตนเองเป็นผู้มีกิเลสมากแค่ไหน เมื่อไม่รู้กิเลสตามความเป็นจริง ก็จะไม่สามารถละคลายกิเลสใดๆ ได้เลย การที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ ก็ต้องฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ด้วยความไม่ประมาทและด้วยความเคารพอย่างยิ่งในแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่คุณ ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์โทษภัยมาให้เท่านั้น ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อนตามกำลังของกิเลส และถ้ามีกำลังถึงขั้นทำร้ายประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็ยิ่งเร่าร้อนมาก เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจในภายหน้า กล่าวได้ว่าเร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และเร่าร้อนทั้งในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย
ควรที่จะได้พิจารณาว่า ชีวิตที่เกิดมา ต่อให้มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วน ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศต่างๆ ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ว่าไปไหนก็ไม่รู้ เหมือนกับเดี๋ยวนี้ที่อยู่ตรงนี้ เกิดเป็นคนนี้ มาจากไหนก็ไม่รู้ และเวลาที่จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ก็อีกไม่นาน เพราะเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ล่วงหน้าเลยว่าใครจะจากโลกนี้ไปเร็วหรือช้าแค่ไหน ซึ่งจะต้องจากไปอย่างแน่นอน สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ คือสามารถได้ฟังคำที่จะทำให้เกิดปัญญา และรู้จักบุคคลที่ประเสริฐสุดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้กิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นโทษมิใช่คุณ ซึ่งมีมากในจิตใจของทุกคนได้ลดน้อยลงจนกระทั่งสามารถที่จะดับได้ตามลำดับขั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าสิ่งอื่นใด ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิดปัญญาเป็นของตนเอง เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ละทิ้งโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิตและในสังสารวัฏฏ์
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ