ชาติเป็นปัจจัยแก่มรณะ [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  22 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43261
อ่าน  519

ชาติเป็นปัจจัยแก่มรณะ ฯเปฯ

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 378

[แก้บท ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ฯเปฯ]

ก็แล เหตุใด เมื่อชาติไม่มีอยู่ ขึ้นชื่อว่าชราและมรณะ หรือธรรมทั้งหลายมีโสกเป็นต้น ก็ย่อมไม่มี แต่เมื่อชาติมีอยู่ ชรามรณะ และธรรมทั้งหลายมีโสก เป็นต้น ที่เนื่องกับความแก่ความตาย (ของตน) ย่อมมีแก่คนเขลาผู้ถูกทุกขธรรม กล่าวคือ ชรามรณะต้องเอาบ้าง ที่ไม่เนื่อง (กับความแก่ความตายของตน) ก็ย่อมมีแก่คนเขลานั้น ผู้ถูกทุกขธรรมนั้นๆ (มีญาติตาย เป็นต้น) กระทบเอาบ้าง เพราะเหตุนั้น แม้ชาตินี่ก็พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแห่งชรามรณะและแห่งธรรมทั้งหลาย มีโสก เป็นต้น ด้วย อันชาตินั้นเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นปัจจัยยอดคืออุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจฺจยา ชาติ เป็นต้น (รวมไปถึง ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ฯเปฯ ด้วย)

[สรุปความ]

>>ปัจจัยธรรม

ชาติ หมายถึง ขันธ์ทั้งหลายใดๆ ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดอยู่ในภพนั้นๆ ความปรากฏขึ้นครั้งแรกของขันธ์นั้นๆ คือ ชาติ (ก็คือ รูปธรรม และนามธรรมที่เกิดขึ้นขณะแรกของความเป็นบุคคลนั้นนั่นเอง ตามแต่ละภูมิที่กำเนิด) ได้แก่ ปฏิสนธิวิบากจิต ปฏิสนธิวิบากเจตสิก เป็นต้น

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง ชาติ ว่า

มีความเกิดทีแรกในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีมอบให้เป็นกิจ มีความผุดขึ้นในภพนี้จากอดีตภพ เป็นอาการปรากฏ หรือ มีความวิจิตรไปด้วยทุกข์เป็นอาการปรากฏ

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง ชาติ ว่า

มีการเกิดก่อนในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ มีมอบให้ (มีอธิบายว่า กรรมมอบขันธ์ให้แก่สัตว์นั้น) เป็นกิจ มีการจากอดีตภพมาโผล่ขึันในภพนี้ เป็นอาการปรากฏ หรือมีการสั่งสมต่างๆ แห่งทุกข์ด้วยอำนาจแห่งผล เป็นอาการปรากฏ มีนามรูปที่สั่งสมแล้ว เป็นเหตุใกล้

>>ปัจจยุบันธรรม

ชรา หมายถึง ความแก่ไปแห่งขันธ์

ชรา มี ๒ อย่าง (วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 174) คือ

-สังขตะลักษณะ (หมายเอา ขณิกชราที่กล่าวในสังขตลักษณะว่า เมื่อตั้งอยู่ความแปรไปย่อมปรากฏ หมายถึง ชรตารูป ๔๙ อนุขณะ) ๑

-ความเก่าไปแห่งขันธ์ที่เนื่องอยู่ในภพอันหนึ่งใน (รูป) สันตติซึ่งรู้กันโดยอาการมีฟันหัก เป็นต้น ๑

ซึ่ง ความเก่าไปแห่งขันธ์นั้น หมายเอาในที่นี้ ...เช่น ความหย่อนยานแห่งอวัยวะใหญ่น้อย ความพิการแห่งอินทรีย์ ความมีรูปร่างวิกลไป ความเป็นหนุ่มหายไป ความเพียรตกไป สติ และมติจากไป และเป็นที่ดูแคลนของคนอื่น เป็นต้น (เข้าใจว่า ชรา โดยปรมัตถธรรม หมายถึง รูปธรรมและนามธรรมที่ไม่ใช่ขณะแรกที่เกิดขึ้นในภพนี้ และคงไม่ได้หมายถึงรูปธรรมอย่างเดียว ขอให้ผู้อ่านพิจารณาด้วย)

ส่วนสันตติรูปนั้น ไม่ได้หมายถึง รูปที่เกิดขณะแรกเมื่อปฏิสนธิ แต่หมายถึง รูปที่เกิดครั้งต่อๆ มาหลังจากปฏิสนธิแล้ว

สภาวรูปทั้งหลาย มีอายุ ๑๗ ขณะจิต หรือ ๕๑ อนุขณะของจิต (๑๗ คูณ ๓ เกิด ตั้งอยู่ ดับ)

รูปที่เกิดขึ้นขณะแรกเมื่อปฏิสนธิ มี ๕๑ อนุขณะ

อนุขณะที่ ๑ อุปจยรูป > อนุขณะที่ ๒ - ๕๐ ชรตารูป > อนุขณะที่ ๕๑ อนิจจตารูป

รูปที่เกิดขึ้นสืบต่อมาหลังปฏิสนธิ มี ๕๑ อนุขณะ

อนุขณะที่ ๑ สนฺตติรูป > อนุขณะที่ ๒ - ๕๐ ชรตารูป > อนุขณะที่ ๕๑ อนิจจตารูป

เมื่อเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ในครรภ์ มีรูปเกิดจากกรรม ๓ กลาป ได้แก่ ภาวทสกกลาป กายทสกกลาป และหทยทสกกลาป อนุขณะแรกของรูปแต่ละกลุ่มคือ อุปจยรูป ส่วนอนุขณะแรกของรูปที่เกิดต่อๆ มา เรียกว่าสันตติรูป เพราะไม่ใช่รูปที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เป็นการเกิดสืบต่อของกลุ่มรูปที่เคยเกิดแล้ว

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง ชรา ว่า

มีความแก่ไปแห่งขันธ์ เป็นลักษณะ มีอันนำเข้าไปหาความตาย เป็นกิจ มีความเสื่อมหายไปแห่งความเป็นหนุ่ม เป็นอาการปรากฏ

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง ชรา ว่า

มีการเสื่อมโทรมแห่งขันธ์เป็นลักษณะ มีการน้อมไปใกล้ความตายเป็นกิจ มีความพินาศแห่งหนุ่มสาว เป็นอาการปรากฏ มีรูปกำลังแก่หง่อม เป็นเหตุใกล้

มรณะ มี ๒ ประเภท คือ

-สังขตะลักษณะ (หมายถึง ขณิกมรณะ ขณะที่ดับไปของจิตทุกขณะ เป็นต้น) ซึ่งท่านหมายเอากล่าวไว้ว่า "ชรามรณะ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๒" ดังนี้ ๑

-ความขาดการติดต่อกันไปแห่งชีวิตินทรีย์ที่เนื่องอยู่ในภพอันหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ความกลัวตายมีอยู่เป็นนิจ” ๑

มรณะคือความขาดชีวิตินทรีย์นั้น ประสงค์เอาในที่นี้ (ซึ่งมรณะ ในปฏิจสมุปบาท หมายถึง สมมติมรณะ ได้แก่ จุติจิตนั่นเอง ไม่ใช่ขณิกมรณะ ที่หมายถึงความดับไปทุกๆ ขณะของจิต)

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง มรณะ ว่า

มีจุติ (การเคลื่อนจากภพปัจจุบัน) เป็นลักษณะ มีวิโยค (ความพรากไปจากสัตว์และสังขารตามที่ตนได้ไว้) เป็นกิจ มีคติวิปวาส (ความพลัดจากคติตามที่ตนเข้าถึงแล้ว) เป็นอาการปรากฏ

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง สมมติมรณะ ว่า

มีการเคลื่อนจากภพเป็นลักษณะ มีการพรากไปเป็นกิจ มีอันปราศจากภพแล้ว เป็นอาการปรากฏ มีนามรูปกำลังแตกดับ เป็นเหตุใกล้

โสกะ

โสก คือ ความเร่าร้อนแห่งจิต แห่งบุคคลผู้ถูกทุกข์มีเสียญาติไปเป็นต้น ต้องเอา ชื่อว่า โสก... ก็คือ โทมนัส (โทมนัสเวทนาเจตสิก ที่เป็นทุกข์ทางใจ) นั่นเอง...

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง โสก ว่า

มีความตรอมตรมภายในเป็นลักษณะ มีความกรมเกรียมใจเป็นกิจ มีความละห้อยหาเป็นอาการปรากฏ

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง โสก ว่า

มีการแผดเผาภายในเป็นลักษณะ มีการเผาลนใจเป็นกิจ มีการเศร้าโศกเนืองๆ เป็นอาการปรากฏ มี โทสจิตตุปบาท เป็นเหตุใกล้

ปริเทวะ

ได้แก่ ความคร่ำครวญแห่งบุคคลผู้มีญาติเสียไป เป็นต้น ชื่อปริเทวะ

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง ปริเทวะ ว่า

มีความพร่ำบ่นเป็นลักษณะ มีการบอก (รำพัน) ความดีความเสีย เป็นกิจ มีความกลิ้งเกลือกไปเป็นอาการปรากฏ

(ไม่ได้กล่าวว่าเป็นเจตสิกประเภทใด แต่กล่าวว่าเป็นสังขารทุกข์ และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ไม่ได้กล่าวว่าเป็นทุกขทุกข์ ซึ่งก็ไม่ใช่ เวทนาเจตสิก)

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง ปริเทวะ ว่า

มีคำบ่นเพ้อรำพันเป็นลักษณะ มีการพร่ำเพ้อถึงคุณและโทษเป็นกิจ มีการหมุนไปแห่งความฟุ้งซ่านเป็นอาการปรากฏ มีมหาภูตเกิดจากโทสจิตเป็นเหตุใกล้

ทุกขะ

ความทุกข์อันเป็นไปทางกาย หมายถึง ทุกขเวทนาเจตสิก

โทมนัส

ความทุกข์อันเป็นไปทางใจ หมายถึง โทมนัสเวทนาเจตสิก

อุปายาส

โทสะ อันความทุกข์ใจอย่างหนักบันดาลขึ้น แห่งบุคคลที่ถูกทุกข์มีเสียญาติ เป็นต้น ต้องเอา อาจารย์บางพวกกล่าวว่าเป็นเจตสิกที่นับเนื่องในสังขารขันธ์ ...อุปายาสมีความแผดเผาจิตเป็นลักษณะ... (ในคัมภีร์กล่าวว่าเป็นสังขารทุกข์ ไม่ได้เป็นทุกขทุกข์ ซึ่งก็ไม่ใช่เวทนาเจตสิก)

-วิสุทธิมรรค สัจจนิเทศแสดง อุปายาส ว่า

มีความแผดเผาจิตเป็นลักษณะ มีการทอดถอน เป็นกิจ มีความตรอมตรมเป็นอาการปรากฏ

-คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดง อุปายาส ว่า

มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะ มีการทอดถอนใจเป็นกิจ มีเศร้าใจเป็นอาการปรากฏ มีหทยวัตถุเป็นเหตุใกล้

เปรียบเทียบโสกะปริเทวะอุปายาส

ก็แล ในโสกะ ปริเทวะ และอุปายาสนี้ โสกะ พึงเห็นเหมือนการที่ (น้ำ) เดือดอยู่ภายในภาชนะด้วยไฟอ่อนๆ ปริเทวะ พึงเห็นดังการ (ล้น) ออกจากภาชนะแห่งน้ำที่เดือดด้วยไฟแรง อุปายาสพึงเห็นเช่นการเดือดจนแห้งไปอยู่ในภาชนะนั่นเอง แห่งน้ำที่เหลือ (ล้น) ออกข้างนอกแล้วไม่พอจะ (ล้น) ออกอีก

>> สรุปความเป็นปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัย ได้แก่ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ โสก ปริเทวะ โดยอุปนิสสยปัจจัย

คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดงว่า

ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งหมายถึง ธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยเป็นการทำไว้ก่อน (ปกโต หมายถึง การทำไว้ก่อน ซึ่งปัจจัยนั้นจะเป็นปัจจัยที่ให้ปัจจยุปบันธรรมเกิดในขณะเดียวกันไม่ได้) นั้น

ปัจจัย ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ที่เกิดก่อนๆ ที่มีกำลัง และบัญญัติบางอย่าง ฯ

ปัจจยุปบัน ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ที่เกิดหลังๆ ฯ

ปัจจนิก ได้แก่ รูป ๗ หมวด (หมายถึง อเหตุกจิตตชรูป อเหตุกปฏิสนธิกัมมชรูป พาหิรรูป อาหารชรูป อุตุชรูป อสัญญสัตตกัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป) ฯ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาด้วยว่าจะเป็นได้หรือไม่ที่

ปฏิสนธิที่เป็นวิบากจิต เป็นปัจจัยแก่ จุติจิตที่เป็นวิบากจิต ในชาตินั้นๆ ได้โดยปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น

คัมภีร์ อภิธัมมัถสังคหะ ปริเฉทที่ ๘ แสดงว่า

ภวจักรเป็นธรรมลึกซึ้ง ...จริงอยู่ภวจักรนี้ชื่อว่า หยั่งไม่ถึงเพราะลึกซึ้ง ชื่อว่า ก้าวล่วงได้ยาก เพราะต้องศึกษาเอาโดยนัยต่างๆ ใครๆ ยังไม่ทำลายภวจักร... ด้วยดาบคือญาณอันลับดีแล้วด้วยหินคือสมาธิอันประเสริฐแล้ว จะผ่านพ้นสังสารหาได้ไม่ ย่อมไม่มีแม้ในความฝัน...เพราะฉะนั้นบัณฑิตผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ตนหรือแก่คนเหล่าอื่น พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ประกอบความเพียรเนืองๆ ก็พึงได้ความหยั่งลงในปัจจยาการอันลึกซึ้งนี้ได้ แลฯ (หมายถึง ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่ฟังธรรม เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้มีความเพียรอบรมเจริญสติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ดี ก็ไม่อาจจะเข้าใจปฏิจสมุปบาทอันลึกซึ้งนี้ได้)


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ