วิธีฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติ

 
ฆราวาสผู้สั่งสมสุตตะ
วันที่  22 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43262
อ่าน  748

ขอโอกาสเรียนถามท่านผู้รู้ทั้งหลาย ผมฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติ ตามดูลมหายใจ ตามที่ผมเข้าใจเองหลังจากได้ฟังจากพระไตรปิฎก ซึ่งผมพึ่งได้ฟังพระไตรปิฎกจากเล่ม 9 ถึงเล่ม 26 ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ ผมอยากทราบว่า

1. สมาธิขั้นปฐมฌาน ที่มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นอย่างไรครับ แต่ละอันมีลักษณะอาการเป็นอย่างไรครับ

2. หลักการฝึกอานาปานสติที่ละเอียดตามภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายด้วยครับ เพราะเท่าที่ผมฟังมาจากพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านแสดงไว้หลายพระสูตรแต่ผมก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมดเลยครับยิ่งสติปัฏฐาน 4 ยิ่งเข้าใจได้ยาก ถึงแม้ผมจะหาปอรรถกถาอ่าน ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

องค์ฌาน ๕ ซึ่งเป็นองค์แห่งความสงบของจิตนั้น แต่ละประเภท คืออย่างไร และ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์อย่างไร ขอเชิญอ่านจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้

องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ โดยวิตกเจตสิกจรดที่อารมณ์ซึ่งทำให้จิตสงบได้ และวิจารเจตสิกตามประคองอารมณ์ที่วิตกเจตสิกจรดลง ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ปีติเจตสิกเป็นสภาพที่เอิบอิ่ม สุขเวทนาเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามความเอิบอิ่ม และเอกัคคตาที่องค์ฌาน ๔ อุปการะอุดหนุนแล้ว ตั้งมั่นคงในอารมณ์โดยอาการของปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ ๕

องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณธรรม ๕ ดังนี้

๑. วิตกเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธนิวรณ์ เพราะเมื่อวิตกเจตสิกตรึกถึงแต่อารมณ์ของสมถภาวนามากขึ้นเรื่อยๆ ความท้อถอย หดหู่ และความง่วงเหงาก็ย่อมเกิดไม่ได้

๒. วิจารเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉานิวรณ์ เมื่อวิจารเจตสิกประคองอารมณ์ตามวิตกเจตสิกที่จรดลงในอารมณ์ของสมถภาวนาไปเรื่อยๆ ความสงสัยความไม่แน่ใจในสภาพธรรม และในเหตุผลของสภาพธรรมก็เกิดไม่ได้

๓. ปีติเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทนิวรณ์ เมื่อความสงบในอารมณ์ของสมถภาวนาเพิ่มขึ้น ปีติก็เอิบอิ่มในความสงบนั้นยิ่งขึ้น ทำให้ความพยาบาทขุ่นเคืองใจเกิดไม่ได้ในระหว่างนั้น

๔. สุข (โสมนัสสเวทนา) เป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เมื่อกำลังเป็นสุขในอารมณ์ของ สมถภาวนาอยู่ ความเดือดร้อนใจ กังวลใจ และความฟุ้งซ่านในอารมณ์อื่นก็เกิดไม่ได้ เพราะกำลังเป็นสุขในสมถอารมณ์ในขณะนั้น

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทนิวรณ์ เพราะเมื่อสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ของสมถภาวนา แล้วก็ไม่ยินดีในกามอารมณ์ใดๆ



เรื่องอานาปานสติ เป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความจดจ้องต้องการ

อานาปานสติ เป็นสติที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลยทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา แต่ผลต่างกัน เพราะสมถภาวนาเพียงระงับกิเลสด้วยการข่มไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานแล้ว สามารถทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น เรื่อง เจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ประการ ไม่ใช่เพียงประการเดียวเท่านั้น

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือ เลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือ เป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 24 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ฆราวาสผู้สั่งสมสุตตะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2565

ขอบคุณท่านผู้รู้ที่มาตอบข้อสงสัยใช้ภาษาที่ทำให้ผมได้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและพอจะนึกเห็นภาพสภาวะของสมาธิขั้นปฐมฌานที่มี ปีติ วิตก วิจาร สุข เอกัคคตา และผมพึ่งทราบว่า เรียกรวมกันว่า องค์ฌาน 5 และเข้าใจว่าองค์ฌาน 5 แต่ละองค์ทำให้ละนิวรณ์ 5 แต่ละอย่างได้อย่างไร

ส่วนอานาปานสติที่ท่านผู้รู้อธิบายมา ผมก็เข้าใจได้นิดหน่อย แต่ก็เพิ่มขึ้นมาได้มากขึ้นเยอะ ก็เป็นดั่งที่ท่านผู้รู้ตอบมา ก็ต้องอาศัยการฟัง พิจารณาอยู่เนื่องๆ และต้องปฏิบัติด้วยถึงจะได้รู้เข้าใจได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งการได้ฟังการอธิบายโดย อรรถ โดยพยัญชนะ ของท่านผู้รู้ที่เมตตา กรุณา มาตอบคำถาม

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิคม
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ