[คำที่ ๕๖๖] วิญฺญาณธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  25 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43276
อ่าน  701

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิญฺญาณธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

วิญฺญาณธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า วิน - ยา - นะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า วิญฺญาณ (สภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์, วิญญาณ) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริงอย่างนั้น, ธรรม) รวมกันเป็น วิญฺญาณธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า วิญญาณธรรม แปลว่า ธรรม คือ สภาพที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์, ธรรมที่เป็นวิญญาณ วิญญาณ กับ จิต เป็นธรรมอย่างเดียวกัน เป็นธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ วิญญาณหรือจิต เป็นธรรมที่มีจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย เป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงมีคำกำกับต่อท้ายอีกว่า วิญญาณธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงความเป็นจริงของธรรมคือวิญญาณ ดังนี้ “วิญญาณ มีการรู้แจ้งอารมณ์ เท่านั้น”


พระพุทธประสงค์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะได้ตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงด้วยพระองค์เอง แล้วทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจ เป็นคำในภาษามคธอันเป็นภาษาที่ดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละชนชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษานั้น ก็ฟังพระธรรมของพระองค์ในภาษาของตนเองๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นการเข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ

จิต เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม คือ สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ เป็นธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ มีพยัญชนะหลายคำที่หมายถึงจิต เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย หนึ่งในนั้นคือวิญญาณ จิตกับวิญญาณ เป็นธรรมอย่างเดียวกัน วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว วิญญาณมีอยู่ทุกขณะ ขณะที่เห็น ก็เป็นวิญญาณ คือจักขุวิญญาณ ขณะที่ได้ยิน ก็เป็นวิญญาณ คือ โสตวิญญาณ ขณะที่ได้กลิ่น ก็เป็นวิญญาณ คือ ฆานวิญญาณ ขณะที่ลิ้มรส ก็เป็นวิญญาณ คือ ชิวหาวิญญาณ ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็เป็นวิญญาณ คือ กายวิญญาณ ตลอดจนถึงขณะที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นวิญญาณ ด้วย คือ เป็นมโนวิญญาณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละขณะ ก็คือ วิญญาณหรือจิต นั่นเองที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน วิญญาณ เป็นสภาพที่มีจริงๆ จึงเป็นธรรมอย่างหนึ่งด้วย วิญญาณ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม มีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม และสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ได้แก่ วิญญาณหรือจิต (และเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) เพราะฉะนั้น วิญญาณ เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งแม้จะไม่มีรูปร่างอะไรเลย แต่ก็เป็นสภาพที่สามารถรู้สิ่งต่างๆ ได้ และเมื่อวิญญาณเกิดขึ้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอตามควรแก่วิญญาณขณะนั้นๆ ในขณะนี้ถ้าเข้าใจวิญญาณ ก็จะเริ่มรู้ว่า ขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย การคิดนึก นั่นคือวิญญาณแต่ละขณะๆ ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือแม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย แต่ก็ยังมีวิญญาณที่คิดนึก ขณะใดที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นวิญญาณ วิญญาณประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี ก็คิดดี วิญญาณประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายไม่ดี ก็คิดไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าแยกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ออกเป็นลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จะต้องมี ๒ ประเภท ได้แก่ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้ และ นามธรรม ได้แก่ วิญญาณหรือจิตรวมถึงเจตสิกด้วย มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ เมื่อเป็นธรรมแล้วจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้อย่างไร

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้ที่ยังมีตัณหา ความติดข้องต้องการ ยังมีอวิชชา ความไม่รู้อยู่ เมื่อตายแล้ว (คือวิญญาณขณะสุดท้ายในชาตินี้ เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้อีก) ต้องเกิดทันที มีปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณเกิดสืบต่อในชาติใหม่ทันทีโดยไม่มีจิตอื่นมาคั่นเลย ส่วนการที่จะเกิดเป็นอะไร ในภูมิ (ที่เกิดของหมู่สัตว์) ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนเองได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ กล่าวคือ เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย ตามควรแก่อกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ยังอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ยังพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ยังเต็มไปด้วยทุกข์ จนกว่าจะเป็นผู้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะเป็นผู้พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง และเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก สังสารวัฏฏ์เป็นอันจบสิ้นไม่มีวิญญาณ และธรรมอื่นๆ เกิดขึ้นอีกเลย

สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ควรจะได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดมาอย่างยากแสนยากด้วยการเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ และมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ จะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลย เพราะมีคนเป็นจำนวนมากทีเดียว ที่เกิดมาแล้วตายไปโดยที่ไม่ได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจพระธรรมนี้เองที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นต้น ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมในส่วนใด ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเอง เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมยิ่งขึ้นว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Muthitas
วันที่ 13 มี.ค. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ