ชาดกเรื่องพระเวสสันดร กัณฑ์ชูชก

 
ฆราวาสผู้สั่งสมสุตตะ
วันที่  26 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43280
อ่าน  670

ขอโอกาสเรียนถามท่านผู้รู้ ผมฟังเสียงอ่านพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯมาถึงเรี่องพระเวสสันดรชาดก ไม่เห็นมีว่าชูชกตายและตายเพราะบริโภคอาหารเยอะเลยครับ ผมเลยลองมาหาข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย พอเริ่มอ่านจากคำนำก็พอเริ่มเข้าใจ เพราะจากคำนำก็อธิบายเรื่องพระไตรปิฎกให้ผมพอเข้าใจมากขึ้นว่าพระไตรปิฎกแต่ละฉบับนั้นอาจจะมีความไม่เหมือนกันทุกอย่างเพระเหตุอะไร พอผมมาหาข้อมูลในพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ ก็ไม่มีกล่าวถึงว่าชูชกตายเลย แต่ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกันแต่พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัยจะละเอียดกว่ามีภาษาบาลีพร้อมความหมายอธิบายไว้ด้วย มีอรรถกถาช่วยให้ผมมีความเข้าใจมากขึ้น ฉะนั้นแล้ว ชูชกตายเพราะบริโภคอาหารเยอะเกินไป มาจากไหนครับผม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงพระธรรม ประกาศพระศาสนา​ ตลอด ๔๕ พรรษา พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจ และน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งเทวดา พรหม และมนุษย์ แล้วพระธรรมก็มีการทรงจำสืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบันเป็นพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกหมายถึงคำสอน ๓ หมวดหมู่ คือ

พระวินัยปิฎก (ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา สำหรับเพศบรรพชิต)

พระสุตตันตปิฎก (เป็นพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ณ สถานที่ต่างๆ ทรงปรารภบุคคลต่างๆ ซึ่งทรงแสดงตามอัธยาศัยของผู้ฟังเป็นหลัก)

และพระอภิธรรมปิฎก (ไม่มีชื่อของสัตว์ บุคคล แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด) ซึ่งทั้งสามปิฎกนั้นมีคุณค่ามากมายมหาศาลหาอะไรเปรียบไม่ได้เลย

พระไตรปิฎก ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำจริงทุกคำ ถ้าได้อ่านฉบับที่อรรถกถาอธิบายด้วย ยิ่งจะเพิ่มพูนความเข้าใจมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีอรรถกถาอธิบาย ก็ยากที่จะเข้าใจ โดยเฉพาะในส่วนของธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก ถ้าไม่ได้อ่านอรรถกถา จะไม่ทราบความละเอียดเลย

สำหรับในเวสสันดรชาดก ตอนที่กล่าวถึง ชูชก บริโภคอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย จนสิ้นชีวิต ก็มีปรากฏใน [เล่มที่ 64] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๓ หน้าที่ ๗๘๙ ดังนี้

...พระเจ้าสญชัย ทรงสั่งจัดการประดับบรรดาด้วยประการฉะนี้ กาลนั้น ฝ่ายชูชกบริโภคอาหารเกินประมาณ ไม่อาจให้อาหารที่บริโภคนั้นย่อยได้ก็ทำกาลกิริยา (ตาย) ในที่นั้นเอง. ครั้งนั้นพระเจ้าสญชัยให้ทำฌาปนกิจชูชก ให้ตีกลองใหญ่ป่าวประกาศในพระนครว่า คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติของชูชก จงเอาสมบัติที่พระราชทานเหล่านั้นไป ครั้นไม่พบคนที่เป็นญาติของชูชก จึงโปรดให้ขนทรัพย์ทั้งปวงคืนเข้าพระคลังหลวงอีกตามเดิม.


ในเวปไชต์บ้านธัมมะแห่งนี้ ก็มีพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและ
พระอภิธรรมปิฎก (พร้อมทั้งอรรถกถา) ให้ศึกษาด้วย

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

https://www.dhammahome.com/tipitaka/section/1
พระไตรปิฎกออนไลน์

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ฆราวาสผู้สั่งสมสุตตะ
วันที่ 27 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาท่านผู้รู้ที่มาตอบ ผมได้อ่านจากลิ้งที่ท่านผู้รู้ให้มาแล้ว ถึงได้ทราบเนื้อความ เพราะมีอยู่2ส่วน ส่วนแรกไม่มีเนื้อความกล่าวถึงการตายชูชกแต่ส่วนที่เป็นอรรถกถามีการกล่าวถึงการตายของชูชก และความละเอียดมีมากมีบาลีบางคำที่แปลความหมายมาให้ด้วย และผมพึ่งทราบว่าพระโพธิสัตว์เวสสันดรท่านก็หวั่นไหวบ้างตอนที่ท่านเห็นบุตรทั้งสองโดนชูชกทำร้ายถึงขนาดอยากตามไปฆ่าชูชกแล้วนำบุตรทั้ง2กลับมา แต่ด้วยบุญบารมีของพระโพธิสัตว์เวสสันดรที่ท่านสั่งสมมาจึงสามารถปล่อยวางได้ ต่อไปกะผมก็คงศึกษาพระไตรปิฎกเพิ่มจากเว็บไชต์บ้านธัมมะ ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prinwut
วันที่ 28 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ