แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า พุทธะ [วิสุทธิมรรค]
โส ภควา อิติปิ พุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า พุทธะ
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖
ฉอนุสสตินิเทศ
...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์
...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๗๕
[แก้อรรถบท พุทฺโธ]
ส่วนที่ทรงพระนามว่า พุทฺโธ ก็เพราะความที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้มีอยู่ ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ (นั้น) ทั้งหมด ด้วยอำนาจวิโมกขันติกญาณ (พระญาณอันเกิดขึ้นในที่สุดแห่งวิโมกข์) อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุที่ตรัสรู้สัจจะ ๔ ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์อื่นๆ ให้รู้ (ด้วย) บ้าง จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ ด้วยเหตุที่กล่าวมาฉะนี้เป็นอาทิก็ได้ ก็แลเพื่อให้รู้ความข้อนี้ชัด นัยแห่งบาลีนิเทศก็ดี นัยแห่งบาลีปฏิสัมภิทาก็ดีทั้งหมด อันเป็นไปโดยนัยว่า พุชฺฌิตา สจฺจานีติ พุทฺโธ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะทรงยังหมู่สัตว์ให้รู้ ดังนี้เป็นต้น บัณฑิต พึง (นำมากล่าว) ให้พิสดารเทอญ
[สรุปความ]
ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่าผู้รู้” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้รู้ ตามนัยของวิสุทธิมรรค ดังนี้
๑. เป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมด
ทรงรู้สิ่งที่มีจริง ที่ควรรู้ทั้งหมด ด้วยพระปัญญา คือ พุทธญาณทั้งปวง พร้อมทั้งพระสัพพัญญุตญาณ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นต้นมา
พุทธญาณ ๑๔ แสดงไว้โดย ขุ ป สัพพัญญุตญาณนิเทศ [๒๙๒] ได้แก่
- ญาณในทุกข์ (ปัญญาในสิ่งที่ควรกำหนดรู้)
- ญาณในทุกขสมุทัย (ปัญญาในสิ่งที่ควรละ)
-ญาณในทุกขนิโรธ (ปัญญาในสิ่งที่ควรกระทำให้แจ้ง)
-ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปัญญาในสิ่งที่ควรเจริญ)
สัจจญาณ ๔ ข้างต้น กล่าวถึง อนุโพธญาณ ย่อมเป็นไปในนิโรธ กับ มรรค ด้วยอำนาจการได้ฟังมา เป็นต้นของผู้เริ่มบำเพ็ญเพียร ย่อมเป็นไปในทุกข์ และสมุทัยด้วยอำนาจการทำให้เป็นอารมณ์ และกล่าวถึง ปัจจเวกขณญาณ โดยมีสัจจะทั้ง ๔ เป็นอารมณ์ สำหรับผู้ที่แทงตลอดสัจจะแล้ว
-ญาณในอรรถปฏิสัมภิทา (หมายถึง ความรู้แตกฉานในธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ สเหตุกจิต เป็นต้น)
-ญาณในธรรมปฏิสัมภิทา (หมายถึง ความรู้แตกฉานในธรรมที่เป็นผล ได้แก่ วิบากจิต เป็นต้น)
-ญาณในนิรุตติปฏิสัมภิทา (หมายถึง ความรู้แตกฉานในภาษาที่ส่องถึงสภาพธรรม)
-ญาณในปฏิภาณปฏิสัมภิทา (หมายถึง ความรู้แตกฉานในปัญญาประเภทต่างๆ)
-ญาณในอินทริยปโรปริยัตตะ (ในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์)
-ญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย หรืออาสยานุสยญาณ
-ญาณในยกมปาฏิหารย์ (ญาณที่ทำกองไฟและธารน้ำเป็นต้น ให้เป็นไปในคราวเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังทีเดียว และเป็นญาณที่กำจัดเสียซึ่งธรรมฝ่ายตรงข้าม มีความไม่เชื่อ เป็นต้น)
-ญาณในมหากรุณาสมาบัติ (กรุณา คือ ความหวั่นใจเมื่อผู้อื่นได้รับทุกข์ ย่อมเป็นไปเพื่อทำลายทุกข์ของผู้อื่น)
-สัพพัญญุตญาณ (ปัญญาที่รู้สังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงโดยไม่มีส่วนเหลือ)
-อนาวรณญาณ (ปัญญาที่ไม่มีสิ่งปิดกั้น ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของ พระสัพพัญญุตญาณ ไม่ใช่ปัญญาที่แยกออกไปต่างหาก)
บรรดา ๑๔ ประการนี้ พระญาณ ๘ ข้างต้น เป็นญาณทั่วไปแก่พระสาวก พระญาณ ๖ ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก
๒. ผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วยพระองค์เอง
๓. ผู้ที่ยังหมู่สัตว์ให้รู้
อีกประการหนึ่ง จากปรมัตถโชติกา ขุ ขุ [๑]
ชื่อว่า พุทธะ เพราะ
๑. บัญญัติอาศัยขันธสันดานที่ถูกอบรมด้วยการบรรลุอนุตตรวิโมกข์ ซึ่งเป็นนิมิตแห่งพระญาณอันอะไรๆ ขัดขวางมิได้
๒. บัญญัติอาศัยการตรัสรู้เองยิ่งซึ่งสัจจะ อันเป็นปทัฏฐานแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
ชื่อว่า พุทธะ โดยอรรถ ดังนี้
เป็นพระสยัมภูเอง (สยัมภู หมายถึง ผู้เป็นเอง) ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้ยิ่งพร้อมด้วยพระองค์เอง ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ในธรรมที่มิได้ทรงฟังมาก่อน ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในธรรมเหล่านั้น และความเป็นผู้เชี่ยวชาญในพละทั้งหลาย
ชื่อว่า พุทธะ โดยพยัญชนะ แสดงไว้ดังนี้
๑. ทรงเป็นผู้ตรัสรู้
๒. ทรงเป็นผู้ปลุกให้ตื่น
อีกประการหนึ่งใน ขุ จู ข้อที่ ๕๔๖ แสดงความเป็นพุทฺโธ ด้วยอรรถว่า
๑. ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่าชื่อ พุทธะ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย เหมือนผู้ที่ลงมาในโลก [อวตาร] ก็เรียกว่า ผู้ลงมา [อวตาร] )
๒. ปลุกหมู่สัตว์ให้ตื่น (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่าชื่อ พุทธะ เพราะอรรถว่า ทรงปลุกหมู่สัตว์ให้ตื่น เหมือนลมที่ทำใบไม้ให้แห้ง ก็เรียกว่าใบไม้แห้ง)
๓. เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวง (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า เพราะความรู้ที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ตามบทที่ว่า สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ)
๔. เพราะทรงเห็นธรรมทั้งปวง (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า เพราะความรู้ที่สามารถรู้ธรรม ได้ทุกอย่าง ตามบทที่ว่า สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ)
๕. เพราะทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง (หมายถึง อริยสัจ ๔) (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า ทรงตรัสรู้เอง ไม่ใช่ผู้อื่นทำให้ตรัสรู้ จากบทที่ว่า อนญฺญเญยฺยตาย พุทโธ)
๖. เพราะทรงเบิกบานแล้ว (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า ทรงบานด้วยพระคุณนานาประการ เหมือนดอกปทุมบาน ตามบทที่ว่า วิกสิตาย พุทฺโธ)
๗. เพราะส่วนแห่งพระองค์มีอาสวะสิ้นแล้ว (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า เพราะนับกันว่าเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว หมายถึงทรงตื่นแล้วเพราะสิ้นอาสวะดุจความหลับทุกอย่าง เหมือนบุรุษตื่นเพราะสิ้นความหลับ เพราะทรงละธรรมอันทำความหดหู่แห่งจิตได้ จากบทที่ว่า ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ ซึ่งอาสวะ คือ อกุศลธรรมเครื่องหมักดองที่ไหลไปทั่ว ทางตา หู ฯลฯ ใจ มี ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ)
๘. เพราะส่วนแห่งพระองค์ไม่มีอุปกิเลส (กิเลสที่มีกำลัง หรือกิเลสที่เกิดบ่อยๆ ได้แก่ ความโลภ พยาบาท ความโกรธ ผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความอิจฉาที่คนอื่นได้สิ่งใดมา ความตระหนี่ที่ไม่อยากให้สมบัติของตนสาธารณะแก่คนอื่น เสแสร้ง โอ้อวด แข่งดี สำคัญตน ดูหมิ่น ความประมาทมัวเมา)
๙. เพราะทรงปราศจากราคะโดยส่วนเดียว
๑๐. เพราะทรงปราศจากโทสะโดยส่วนเดียว
๑๑. เพราะทรงปราศจากโมหะโดยส่วนเดียว
๑๒. เพราะไม่ทรงมีกิเลสโดยส่วนเดียว (กิเลส คือ อกุศลธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง มีทั้งระดับที่หยาบที่ก้าวล่วงทุจริต ระดับกลางเกิดเป็นอกุศลจิต และระดับที่นอนเนื่องอยู่ในจิตอย่างละเอียด กิเลสมี มี ๑๐ ประการ เป็นต้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ)
๑๓. เพราะทรงถึงแล้วซึ่งเอกายนมรรค (หมายถึง หนทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า เพราะทรงดำเนินเอกายนมรรค เหมือนบุรุษแม้เดินทาง เขาก็เรียกว่าผู้เดินไป เพราะปริยายแห่งอรรถว่า ไปสู่ทางตรัสรู้ ตามบทที่ว่า เอกายนมคฺคํ คโตติ พุทฺโธ)
๑๔. เพราะทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่ง สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ (ส่วนในขุ ขุ แสดงว่า เพราะตรัสรู้ยิ่งเอง ซึ่งพระสัมมาสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ด้วยพระองค์เองเท่านั้น ตามบทที่ว่า เอโก อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธิํ อภิสมฺพุทฺโธติ)
๑๕. เพราะทรงกำจัดความไม่รู้
๑๖. เพราะทรงได้พระปัญญาเครื่องตรัสรู้
พระนามว่า พุทธะ นี้ ไม่ใช่พระชนนีตั้ง พระชนกตั้ง ...มิใช่พระญาติสาโลหิตตั้ง มิใช่สมณพรหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง พระนามนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีตอนท้ายแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส บัญญัติคือพุทธะ ทรงทำให้แจ้งพร้อมกับทรงได้พระสัพพัญญุตญาณ
พุทโธ ตามที่แสดงใน ขุ ป เล่ม ๗ ภาค ๒ ข้อ ๓๘๖
พระนามวา พุทฺโธ นี้ พระมารดา พระบิดา พี่ชายนองชาย พี่หญิง นองหญิง มิตร อํามาตย ญาติสายโลหิต สมณะ พราหมณ เทวดา มิไดแตงตั้งใหเลย พระนามวา พุทฺโธ นี้ เปนวิโมกขันติกนาม พระนามที่เกิดในที่สุดแหงอรหัตตผล แหงพระผูมีพระภาคเจาตรัสรูแลว พระนามวา พุทฺโธ นี้ เปนสัจฉิกาบัญญัติ เกิดขึ้นพรอมกับการทรงไดสัพพัญุตญาณ ณ ควงไมโพธิพฤกษ.
[โดยสรุปจากทั้งหมด]
พระพุทธเจ้าเป็นใคร?
ทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คืออริยสัจธรรม ๔ คือ ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางไปสู่การดับทุกข์ เป็นต้น ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีอาจารย์ผู้สอน เป็นผู้ที่เลิศด้วยคุณความดีทุกประการหาผู้เสมอมิได้ เป็นผู้ดำเนินทางสายเอกคือสติปัฏฐาน ๔ เป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวง ดับอาสวะ ดับความไม่รู้ไม่เกิดขึ้นอีกเลยด้วยปัญญา และเป็นผู้ที่แสดงความจริงนั้นให้แก่ผู้ที่ได้ฟัง และเข้าใจความจริงนั้น ได้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่พระองค์แสดง
ใครเป็นผู้ตั้งพระนามว่า พระพุทธเจ้า? เป็นพระพุทธเจ้าตั้งแต่เมื่อไหร่?
พระนามของพระองค์ไม่ใช่เกิดจากผู้ที่เป็นพ่อ เป็นแม่ตั้งให้ แต่เป็นพระนามที่เกิดจากคุณความดี การอบรมเจริญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เป็นพระนามที่เกิดขึ้นต่อจากการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์ก็ได้ปัญญาที่สามารถรู้สิ่งทั้งปวงโดยไม่มีอะไรสามารถปิดบังปัญญานั้นได้