จะให้เราไปทำสิ่งที่ผิด เราไม่ทำ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ช่วงหนึ่งของการสนทนาธรรมที่โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง จากคำถามของคุณวทัญญู สุวรรณเศรษฐ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๙๙๗ ได้กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ บริหาวนเขตต์ ว่า ถ้าหากบุพการีสิ้นชีวิตลง ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบพิธีกรรม เช่น นิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม และแน่นอนจะมีการถวายเงินพระ ในฐานะที่เรามีความเข้าใจพระธรรมวินัย จะไม่ทำผิดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ถวายเงินพระ แต่เรามีญาติพี่น้องที่ยังไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ยังทำตามประเพณีผิดๆ ดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ดี ที่ถูกต้อง ควรจะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวตอบคำถามดังกล่าวนี้ เนื้อหาเป็นประโยชน์เกื้อกูล ควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอโอกาสถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพื่อให้ทุกท่านได้ค่อยๆ อ่าน และพิจารณาร่วมกัน ดังนี้
เดี๋ยวนี้เราอยู่ในโลกหรือในประเทศหรือในหมู่คณะที่มีความเห็นหลากหลาย และการที่จะให้คนอื่นได้มีความเห็นอย่างเรา เห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจความจริง ควรที่จะได้พิจารณาว่า ผู้ที่เสียชีวิตแล้ว เกิดทันทีแน่นอน เพราะฉะนั้น พิธีกรรมต่างๆ ก็แล้วแต่ คนต่างๆ หลากความคิดที่เขาคิดอย่างนั้น แล้วเราก็เปลี่ยนไม่ได้ เรา อยู่ท่ามกลางพิธีกรรมอะไรอย่างนี้มาตลอด ใช่ไหม? แต่ว่าในฐานะที่เราได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างถูกต้อง เรามีความหวังดีที่จะให้คนอื่นทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นไปได้ไหม? และถ้าเป็นคนที่หวังดีจริงๆ เราจะพูดคำที่มีประโยชน์ แม้คำนั้นเป็นคำจริง แต่ไม่ถึงวาระ ไม่ถึงกาล (เวลา) ที่จะเป็นประโยชน์ พูดไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น การกระทำของเราเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องแสดงว่าเรามั่นคงต่อความจริง ถ้ามีคนบอกว่า ทำไมเราไม่ถวายเงินพระ เราก็บอกว่า ตามพระวินัย พระพุทธเจ้า ตรัสว่า เป็นอาบัติ (ภิกษุ ล่วงละเมิดพระวินัย) เป็นโทษ เพราะการได้สละชีวิตครองเรือนบ้านช่องทั้งหลายก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต เพราะแม้แต่คฤหัสถ์ก็ขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ได้ ไม่ต้องบวช ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี ตามลำดับ จนถึงเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ จึงไม่สามารถที่จะอยู่ในเพศของคฤหัสถ์ได้ต่อไป เพราะเหตุว่า สละหมดแล้ว จะเป็นชีวิตอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเห็นชีวิตที่ต่างกันจริงๆ ต้องรู้ว่าพระภิกษุคือใคร เพราะฉะนั้น การที่คนอื่นไม่รู้หรือไม่เข้าใจแล้วเรามุ่งหวังที่จะให้เขารู้ แต่ก็เหมือนกับว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะเขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่เราก็มีความหวังดีซึ่งใครก็ยับยั้งความหวังดีของเราไม่ได้ที่จะพูดคำจริงคำที่ถูกเพื่อที่จะหวังดีให้คนอื่นเข้าใจถูก แต่ถ้ายังไม่ถึงกาล พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ใช่ไหม แต่ว่า ถ้ามีประโยชน์เมื่อไหร่ ก็ทำเท่าที่จะทำได้ แต่ตัวเราใครก็ห้ามไม่ได้ จะให้เราไปทำสิ่งที่ผิด เราไม่ทำ เพราะฉะนั้น ต่อให้ใครหรือจะมีประเพณีอะไรมาบังคับว่าต้องทำ (ในสิ่งที่ผิด) เราไม่ทำ เป็นอะไรจะเสียหายตรงไหน จะถูกลงโทษหรือ? เรามีเหตุผล พระภิกษุคือใคร แล้วพระธรรมวินัยกล่าวไว้ว่าอย่างไร เราประพฤติตามพระธรรมวินัย เราผิดหรือ?
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการกระทำของเรา และถึงแม้ว่าท่านผู้ใหญ่บิดามารดาหรือแม้แต่พี่น้องเพื่อนฝูงทั้งหลาย ไม่ได้มีความเห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม แต่เราก็หวังดี ใช่ไหม? ไม่ไปรบกวนไม่ต้องไปดึงลากเขามาแล้วเขาก็เดือดร้อนใจซึ่งจะเป็นการทำให้เขาเกิดอกุศลต่างๆ แต่คอยเวลา อดทนไหมที่จะมีความหวังดีต่อคนนั้นตลอดชีวิต เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเขาพร้อมเราก็เต็มใจ เมื่อถึงกาลที่เราจะให้คนอื่นได้มีความเข้าใจถูกในธรรม แต่ถ้าจะให้เราเห็นผิดอย่างเขา เราไม่ทำ เป็นตัวอย่าง และการที่มีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น เราจะเป็นคนดีในทุกอย่างเพิ่มขึ้น ไม่ว่าทางกาย ทางวาจาและทางใจ ไม่หวังร้ายต่อคนที่โกรธเราไม่ชอบเราว่าร้ายเรา เพราะเขาไม่รู้เขาไม่เข้าใจและขณะนั้นก็เป็นอกุศลของเขา ถ้าเราเดือดร้อน ก็เป็นอกุศลของเรา แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้อย่างไร? เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะมีชีวิตตามที่เราได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วก็มั่นคง แล้วก็เป็นตัวอย่าง เมื่อทั้งวันตลอดชีวิตที่เรามี เราดีต่อญาติพี่น้อง ต่อพ่อแม่ต่อใครๆ เขาจะตำหนิเราได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในคุณความดีและในความเข้าใจพระธรรมและทุกอย่างที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้เรากล่าวถึงได้ เพื่อประโยชน์เพื่อที่เขาจะได้ไตร่ตรอง ไม่ใช่หวังว่าจะให้เขาเชื่อทันทีหรืออะไร แต่สักวันหนึ่ง ถ้าเขาสามารถจะเข้าใจได้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เขาในสังสารวัฏฏ์ สำคัญมากเลย เพราะว่า ไม่ได้มีแค่ชาตินี้ชาติเดียว ถ้าชาตินี้เห็นผิดประพฤติผิดทำผิด ไม่เข้าใจคำสอนแล้วก็ทำให้คำสอนอันตรธาน (สูญสิ้น) เป็นโทษอย่างยิ่ง ทั้งกับคนอื่นที่ตามเราและทั้งกับตัวเราซึ่งไม่มีทางที่จะขึ้นมาได้จากเหวลึกของความไม่รู้ เพราะว่า ชาตินี้ทั้งๆ ที่มีโอกาสได้ฟังก็ไม่ได้ฟังด้วยความเคารพไม่ได้ฟังด้วยการเห็นประโยชน์ ว่า เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระธรรม ทำให้เป็นผู้ที่มั่นคงในคุณความดีและในความเห็นถูก ส่วนคนอื่น เราช่วยไม่ได้ เพราะเขาสะสมมา แต่จะไม่ให้เราหวังดี ก็ไม่ได้ จะให้เราโกรธเคือง เราก็ไม่โกรธ แต่จะให้เราไม่พูดในสิ่งที่ถูกต้อง เราทำไม่ได้ คำของเราต้องเป็นคำที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ไม่ว่าใครจะรักจะชัง ไม่สำคัญเลย สำคัญที่เขาจะได้มีความเข้าใจถูกต้อง แล้วแต่ว่าเขาสามารถจะเห็นประโยชน์หรือเปล่า?
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลของคุณสมพงษ์ เหลืองภิญโญและครอบครัว
ผู้จัดสนทนาธรรมในครั้งนี้
และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง กราบขอบพระคุณคุณสมพงษ์ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกๆ ท่านค่ะ