[คำที่ ๕๖๘] กณฺณสุขา

 
Sudhipong.U
วันที่  9 ก.ค. 2565
หมายเลข  43328
อ่าน  484

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กณฺณสุขา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กณฺณสุขา อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - นะ - สุ - ขา มาจากคำว่า กณฺณ (หู) กับคำว่า สุขา (สบาย, สุข) รวมกันเป็น กณฺณสุขา เขียนเป็นไทยได้ว่า กัณณสุขา แปลว่า วาจาหรือคำพูดที่นำมาซึ่งความสบายหู, วาจาที่สบายหู ซึ่งเป็นคำที่ไพเราะ ไม่ใช่คำหยาบคาย สำหรับวาจาที่นำมาซึ่งความสบายหู ที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ทุกคำล้วนเป็นคำจริง เป็นคำที่ไพเราะ เพราะเป็นความจริง เป็นคำที่หวังดี มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ฟัง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟังเท่านั้น

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงความเป็นจริงของวาจาที่สบายหู ดังนี้

บทว่า กณฺณสุขา (สบายหู) ได้แก่ สบายแก่หูทั้งสอง เพราะเป็นวาจาที่ไพเราะโดยพยัญชนะ คือ ไม่ทำการเสียดแทงหูดุจการแทงด้วยเข็ม ให้เกิดขึ้น


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่งตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทรงแสดงบ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติตามพระธรรมจนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นสัจจะ เป็นความจริง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของบุคคลผู้ทรงตรัสรู้ความจริงที่จะมีการแสดงความจริงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เป็นการอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละอกุศล เป็นไปเพื่อดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นไปเพื่อการไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

จะเห็นความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นไปเพื่อละ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นไม่เกิดอีก ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มั่นคงในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม และขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

ถ้าคำสอนใดหรือหนทางใด สอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ คือความติดข้องต้องการ ย่อมไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไร ด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และ ขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่ากิเลสจะถูกดับได้หมดสิ้นเท่านั้น

พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระวาจาของพระองค์ เป็นคำที่ตรัสจากสภาพจิตที่ดีงามที่สุด ประกอบด้วยพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้ได้ฟังได้ศึกษาในสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ทุกคำของพระองค์เป็นคำที่ไพเราะ เพราะเป็นคำจริง นำมาซึ่งความสบายหู เพราะมีแต่คำที่ไพเราะ ไม่มีคำหยาบคายเลยแม้แต่น้อย และที่สำคัญ เป็นคำที่เกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เกิดปัญญาเป็นของตนเอง

ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับ ไม่ใช่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียว หรือ สอง สามครั้งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลในคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขณะที่ตนเองได้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชีวิต เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ส่วนมากจะเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล มีความติดข้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย แต่บางครั้งบางเวลาก็มีเหตุปัจจัยทำให้เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะสละเวลาจากที่เป็นอกุศล มาเพื่อฟังพระธรรม ซึ่งยากที่จะได้ฟังและยากที่จะเข้าใจ และผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง มีศรัทธาที่จะฟัง จึงได้ฟัง และจากการฟังในแต่ละครั้ง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐเป็นอย่างยิ่ง

คนเราเกิดมา ชีวิตแสนสั้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจะจากโลกนี้ไปวันไหน ที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร แต่มั่นใจได้เลยว่าต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ก่อนจากโลกนี้ไป ควรทำอะไร? เพราะเหตุว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้คิดได้ไตร่ตรองตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าจะจากโลกนี้ไป สมกับการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นยอดของคำพูดทั้งหมด ไม่มีคำของใครจะประเสริฐยิ่งไปกว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องฟังพระธรรม ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นความดีที่ประเสริฐที่สุด เป็นการค่อยๆ ชำระจิตให้สะอาดปราศจากความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ก.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ