ความโกรธ เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือครับ?

 
เริ่มหัดเดิน
วันที่  9 ก.ค. 2565
หมายเลข  43330
อ่าน  549

เวลาที่เราโกรธหรือโมโห
ตัวอาการ ที่โกรธหรือโมโหที่เกิดขึ้น
มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มันมีองค์ประกอบทำงานอย่างไรหรือครับ?

เคยได้ยินว่าถ้าเป็นพระอรหันต์
หากเจอสถานการณ์เดียวกันกับเรา
ท่านจะไม่มีความโกรธ เพราะอะไรหรือครับ
ตัววงจรอะไรที่มันหายไปหรือครับ
ท่านเลยไม่รู้จักความโกรธ?
(เคยหาข้อมูลมาว่าเพราะพระอรหันต์ท่านไม่มีอวิชชา แต่มันหมายความว่าอย่างไรหรือครับ)

ขอบพระคุณและอนุโมทนากับทุกท่านที่เมตตาตอบครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 10 ก.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ ๖๔

บางคน ย่อมทำหน้าสยิ้วด้วยความโกรธใด ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว มีกำลังแรงกว่าความโกรธที่นิดหน่อยนั้น, คนบางคนปรารถนาจะกล่าวคำหยาบ ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น จึงทำเหตุสักว่า คางสั่น (ปากสั่น) , คนอีกพวกหนึ่ง กล่าวคำหยาบด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่ง แสวงหาท่อนไม้และศาสตรา เหลียวดูทิศทั้งหลายด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่ง จับท่อนไม้และศาสตรา ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่งถือท่อนไม้เป็นต้น วิ่งเข้าใส่ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่งประหาร ๒-๓ ครั้ง ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่ง ฆ่าแม้กระทั่งญาติสายโลหิตของตน ด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้น, อีกพวกหนึ่ง เกิดวิปฏิสาร (เดือดร้อน) ขึ้นด้วยความโกรธที่มีกำลังแรงกว่านั้นแล้วฆ่าตัวเอง ก็ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ ความโกรธจัดว่าถึงความเพิ่มพูนขึ้นอย่างยิ่ง.



ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ โทสเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อโทสะเกิดขึ้น ก็เกิดร่วมกับจิตและเจตสิกประการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่ความโกรธเกิดขึ้นนั้น เหตุหลักแล้ว ไม่ใช่บุคคลอื่น ไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่เรื่องราว แต่เพราะยังมีพืชเชื้อของโทสะ ที่ยังไม่สามารถดับได้นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากมากที่จะไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ แม้จะตั้งใจเอาไว้ว่า จะไม่โกรธ จะไม่ขุ่นเคืองใจ แต่ก็ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเหตุว่า ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ความโกรธก็เกิดขึ้น

ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย และมีหลายระดับด้วย ถ้าหากความโกรธมีกำลังรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้ นี้คือ โทษของอกุศลธรรม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น

การดับกิเลส ดับได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับมรรค ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญจนสมบูรณ์พร้อมพร้อมแล้ว เข้าใจสภาพธรรมซึ่งเป็นสิงที่มีจริง ตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่สามารถรู้แจ้งธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้เลย

สำหรับ ความโกรธ ดับได้เมื่อถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล และเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นได้อีกเลย อวิชชา ซึ่งเป็นความหลงความไม่รู้ นั้น จะดับได้หมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ จะไม่มีความหลง จะไม่มีความไม่รู้ เลย พระอรหันต์ จึงเป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1365


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ก.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เริ่มหัดเดิน
วันที่ 12 ก.ค. 2565

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เมตตาให้คำตอบและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่ 13 ก.ค. 2565

เป็นคำถามที่น่าสนใจ และตอบยากมากๆ หรืออาจจะไม่มีคำตอบก็ได้

สังเกตว่า อาจารย์คำปั่นยังไม่ตอบคำถาม เพียงแต่ยกข้อความมาให้พิจารณาเท่านั้น

ทำให้ผมคิดไปว่า น่าจะยังไม่มีคำตอบ หรือไม่ทราบคำตอบ

แต่ก็ขอขอบคุณที่อาจารย์คำปั่นพยายามจะตอบครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 16 ก.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ค. 2565

เรียน ความคิดเห็นที่ ๔ ครับ

เพราะยังไม่สามารถดับความโกรธได้ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ความโกรธ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ดังนั้น ความโกรธ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ