พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช
[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ ๗๑๒
เวลาที่พระชนมายุ ๒๙ พรรษา พระมหาสัตว์ ทรงทิ้งจักรวรรดิราชย์ที่ตกอยู่ในพระหัตถ์ ไม่ทรงเยื่อใยเหมือนก้อนเขฬะ เสด็จออกจากพระราชย์นิเวศน์อันเป็นสิรินิวาสแห่งจักรพรรดิ เมื่อดาวนักษัตรอุตตราสาฬหะเพ็ญเดือนอาสาฬหะ เสด็จออกจากพระนคร ได้มีพระประสงค์จะทรงแลดูพระนคร ในลำดับแห่งความตรึกนั่นเอง ภูมิประเทศนั้น ก็แปรเปลี่ยนไปเหมือนจักรแป้นหมุนทำภาชนะดิน แก่พระองค์ พระมหาสัตว์ทรงยืนอยู่อย่างเดิม ทอดพระเนตรกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงกระตุ้นม้ากัณฐกะให้บ่ายหน้าไปตามทางที่พึงไป แสดงเจดียสถาน ชื่อ กัณฐกนิวัตตนะ ที่ม้ากัณฐกะหันหน้ากลับ ณ ภูมิประเทศนั้นเสด็จไปด้วยสักการะยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุให้เกิดสิริอันโอฬาร.
ครั้งนั้น เมื่อพระมหาสัตว์กำลังเสด็จไป เทวดาทั้งหลายชูคบเพลิงจำนวนหกล้านดวงข้างหน้าพระมหาสัตว์นั้น ข้างหลังก็หกล้านดวงเหมือนกัน ข้างขวาก็หกล้านดวง ช้างซ้ายก็เหมือนกัน เทวดาพวกอื่นๆ อีกก็สักการะด้วยพวงมาลัยดอกไม้หอม จุรณจันทน์ พัดจามรและธงผ้า ห้อมล้อมไป สังคีตทิพย์และดนตรีเป็นอันมาก ก็บรรเลงได้เอง.
พระโพธิสัตว์ เสด็จไปด้วยเหตุที่ให้เกิดสิริอย่างนี้ เสด็จหนทาง ๓๐ โยชน์ผ่าน ๓ ราชอาณาจักร ราตรีเดียวเท่านั้น ก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงยืน ณ ริมฝั่งแม่น้ำ ตรัสถามนายฉันนะว่า แม่น้ำนี้ชื่อไร ทูลตอบว่า แม่น้ำอโนมา ทรงใช้ส้นพระบาท กระแทกม้าให้สัญญาณแก่ม้า ม้าก็โดดไปยืนอยู่ริมฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำซึ่งกว้าง ๘ อุสภะ พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนที่หาดทรายเสมือนกองแก้วมุกดา เรียกนายฉันนะมาตรัสสั่งว่า สหายฉันนะ เจ้าจงนำอาภรณ์ของเรากับกัณฐกะกลับไปเราจักบวช.
นายฉันนะทูลว่า แม้ข้าพระบาทก็จักบวช พระลูกเจ้า. พระโพธิสัตว์ตรัสว่า เจ้ายังบวชไม่ได้ เจ้าต้องกลับไป ทรงห้าม ๓ ครั้งแล้ว ทรงมอบอาภรณ์และม้ากัณฐกะแล้วทรงดำริว่า ผมของเราอย่างนี้ ไม่เหมาะแก่สมณะจำจักตัดผมเหล่านั้นด้วยพระขรรค์ ทรงจับพระขรรค์อันคมกริบด้วยพระหัตถ์ขวา รวบพระจุฬาพร้อมด้วยพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย แล้วตัด (พระเกศา) เหลือพระเกศาสององคุลี พระเกศาเหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้น จนตลอดพระชนมชีพ ส่วนพระมัสสุ ก็เหมาะแก่ประมาณพระเกสานั้น แต่พระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีกเลยนี้ พระโพธิสัตว์ทรงรวบพระจุฬาพร้อมด้วยพระเมาลี อธิษฐานว่า ถ้าเราจักเป็นพระพุทธเจ้าไซร้ ผมนี้จงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าไม่เป็นไซร้ ก็จงหล่นลงเหนือพื้นดิน แล้วเหวี่ยงไปในอากาศ กำพระจุฬามณีนั้น ไประยะประมาณโยชน์หนึ่งแล้วก็ตั้งอยู่ในอากาศ ลำดับนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงตรวจดูด้วยจักษุทิพย์ ทรงเอาผอบรัตนะ
ขนาดโยชน์หนึ่งรับกำพระจุฬามณีนั้น แล้วทรงสถาปนาเป็นพระจุฬามณีเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ ขนาด ๓ โยชน์ไว้ในภพดาวดึงส์ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
พระผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงตัดพระเมาลีที่อบด้วยของหอมอย่างดี
ทรงเหวี่ยงขึ้นสู่อากาศ ท้าววาสวะ สหัสสนัยน์ ทรงเอาผอบทองอย่างดีรับไว้
ด้วยเศียรเกล้า.
พระโพธิสัตว์ทรงดำริอีกว่า ผ้ากาสีเหล่านั้นมีค่ามาก ไม่เหมาะแก่สมณะของเรา ลำดับนั้น ฆฏิการมหาพรหม สหายเก่าครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ของพระโพธิสัตว์นั้น ดำริโดยมิตรภาพที่ไม่ถึงความพินาศตลอดพุทธันดรหนึ่งว่า วันนี้สหายเราออกอภิเนษกรมณ์ จำเราจักถือสมณบริขารไปเพื่อสหายนั้นจึงนำบริขาร ๘ เหล่านั้นไปถวาย คือ
บริขาร ๘ เหล่านี้คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด และผ้ากรองน้ำ เป็นของภิกษุผู้ประกอบความเพียร.
พระมหาบุรุษทรงครองผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ถือเพศบรรพชาสูงสุด ทรงเหวี่ยงคู่ผ้า [นุ่งห่ม] ไปในอากาศ. ท้าวมหาพรหมรับคู่ผ้านั้นแล้วสร้างเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะขนาด ๑๒ โยชน์ในพรหมโลก บรรจุคู่ผ้านั้นไว้ข้างใน. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะนายฉันนะว่า ฉันนะเจ้าจงบอกแก่พระชนกพระชนนีตามคำของเราว่า เราสบายดี แล้วทรงส่งไป. แต่นั้น นายฉันนะก็ถวายบังคมพระมหาบุรุษ ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ส่วนม้ากัณฐกะยืนฟังคำของพระโพธิสัตว์ ผู้ปรึกษากับนายฉันนะ รู้ว่า บัดนี้เราจะไม่เห็นนายของเราอีก พอละสายตาของพระมหาบุรุษนั้น ไม่อาจทนวิปโยคทุกข์ได้ ก็หัวใจแตกตายไปบังเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกัณฐกะ ในภพดาวดึงส์ ซึ่งเป็นภพที่ข้าศึกของเทวดาครอบงำได้แสนยาก การอุบัติของกัณฐกะเทพบุตรนั้น พึงถือเอาตามอรรถกถาวิมานวัตถุ ชื่อวิมลัตถวิลาสินี. ความโศกได้มีแก่นายฉันนะเป็นครั้งที่ ๑ เพราะความตายของม้ากัณฐกะ นายฉันนะ ถูกความโศกครั้งที่ ๒ เบียดเบียน ก็ร้องไห้คร่ำครวญ เดินทางไปด้วยความทุกข์.