[คำที่ ๕๖๙] โกธาภิภูต
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โกธาภิภูต”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
โกธาภิภูต อ่านตามภาษาบาลีว่า โก - ทา - พิ - พู - ตะ มาจากคำว่า โกธ (ความโกรธ) กับคำว่า อภิภูต (ผู้ถูกครอบงำ) รวมกันเป็น โกธาภิภูต เขียนเป็นไทยได้ว่า โกธาภิภูตะ แปลว่า ผู้ถูกความโกรธครอบงำ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อความโกรธ เกิดกับใคร ก็หมายรู้ได้ว่าบุคคลผู้นั้น เป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำ เป็นผู้เป็นไปตามกำลังของความโกรธ ซึ่งก็คือ โทสะ นั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมความโกรธมากขึ้นๆ ก็สามารถทำทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ และในขณะที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะอกุศลของตนทำร้ายจิตของตนเอง และยังเป็นเหตุให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้าอีกด้วย โดยไม่มีใครทำให้เลย
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร แสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้ถูกความโกรธหรือโทสะครอบงำ ดังนี้
“โทสะให้เกิดความความพินาศ โทสะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้จักโทสะนั้นอันเกิดในภายในว่าเป็นภัย คนโกรธย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โทสะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อ ย่อมมีในขณะนั้น”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก เตือนให้ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นไปจากธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม จะเห็นได้จริงๆ ว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตอยู่อย่างแท้จริง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองเต็มไปด้วยกิเลสมากมายเพียงใด เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา เพราะถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย
ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคลล้วนมีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความริษยา เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของอกุศลว่ามีมากจริงๆ
ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว คือ โทสะ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล
ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากมากที่จะไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ แม้จะตั้งใจไว้ว่า จะไม่โกรธ จะไม่ขุ่นเคืองใจ แต่ก็ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ความโกรธก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่
ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย แต่ถ้าหากความโกรธ มีกำลังรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้ นี้คือโทษของอกุศลธรรม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ถูกความโกรธครอบงำนั้น กาย วาจา จะหยาบกระด้าง และย่อมแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมต่างๆ มากมาย ที่คนปกติไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง กล่าวคำที่หยาบคาย มือ เท้า เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น
ข้อที่ควรพิจารณา คือสาเหตุที่แท้จริงของความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์หรือเพราะจากบุคคลอื่น แต่เป็นเพราะการสะสมความโกรธของตนเองมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ความโกรธไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย เมื่อกระทบสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้ว ไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นทราบได้ว่าจะต้องเป็นอุปนิสัยที่ได้สะสมมา จึงทำให้มีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่พอใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าผู้ที่มีความอดทน และในเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลนั้น คนอื่นจะทำโทษแก่เราไม่ได้เลย
การที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความโกรธได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง แล้วกุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล นี้คือความเป็นจริง
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ไม่มีข้อความใดที่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลเลยแม้แต่น้อย การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และชีวิตในภพนี้ชาตินี้ก็ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะฉะนั้นแล้ว ควรที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตที่แสนสั้นนี้ ไม่ประมาทในการสะสมที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป ที่พึ่งดังกล่าวนั้น ได้แก่ กุศลธรรม ความดีทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ที่เริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีน้อย เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงซึ่งเป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ