[คำที่ ๕๗๐] คุณธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ก.ค. 2565
หมายเลข  43375
อ่าน  810

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “คุณธมฺม”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า คุณธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลี ว่า คุ – นะ - ดำ – มะ] มาจากคำว่า คุณ (คุณ,ไม่มีโทษ, ไม่ใช่สิ่งที่มีโทษ) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น คุณธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า คุณธรรม แปลว่า ธรรมที่มีคุณ ธรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึง ธรรมฝ่ายดี ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมด ซึ่งเป็นธรรมที่ควรอบรมเจริญให้เกิดขึ้น เพราะเป็นประโยชน์เท่านั้น ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เลยแม้แต่น้อย ข้อความในพระไตรปิฎก มีมากมายที่กล่าวถึงธรรมที่มีคุณหรือคุณธรรมประการต่างๆ อย่างเช่นข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เชตวนสูตร แสดงถึงธรรมที่มีคุณหรือคุณธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้สัตว์โลกถึงความบริสุทธิ์สะอาดหมดจดจากสิ่งที่ไม่ดี ดังนี้

“กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ ไม่”

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เชตวนสูตร ได้อธิบายคุณธรรม ๕ ประการ ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ (กรรม) ได้แก่ มรรคเจตนา. บทว่า วิชฺชา (วิชชา) ได้แก่ มรรคปัญญา. บทว่า ธมฺโม (ธรรม) ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันเป็นฝ่ายสมาธิ. บทว่า สีลํ (ศีล) ชีวิตมุตฺตมํ (ชีวิตอันอุดม) อธิบายว่า เทวดานั้น ย่อมแสดงชีวิตอันสูงสุดของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) และสัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) . บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งมั่นชอบ) . บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา (เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) และสัมมากัมมันตะ (เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม) . บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้ เป็นชีวิตสูงสุด.


ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นแสนสั้นมาก ชีวิตในชาติหนึ่งเริ่มต้นที่ปฏิสนธิจิต แล้วสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทำให้เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ที่เรียกว่า “ตาย” ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่หวนกลับมาได้อีก

ธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิดก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น หมายความว่า ค่อยๆ เปลี่ยน ไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง สามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ เป็นปุถุชนผู้ดีงามด้วยกุศลธรรม จนไปถึงความเป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสตามลำดับขั้นได้

ความเข้าใจถูกอันเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมสามารถทำให้จากที่เคยมีความเห็นผิด ความติดข้อง และความไม่รู้ เป็นต้น ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขัดเกลากิเลสเหล่านั้นได้ ดังนั้นการอาศัยสัตบุรุษผู้มีปัญญา การได้ฟังพระธรรม และความเป็นผู้ว่าง่ายน้อมรับฟังด้วยความเคารพ อีกทั้งการพิจารณาพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลให้เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ซึ่งไม่มีตัวตนที่เปลี่ยน แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่มีคุณ หรือ คุณธรรม มากยิ่งขึ้น ตามระดับของความเข้าใจถูกเห็นถูก

ธรรมที่มีคุณ หรือ คุณธรรม นั้น ย่อมหมายถึงกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีสภาพที่เสียดแทงจิต ไม่มีสภาพที่ทำร้ายจิต ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นต้น เมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและกับบุคคลอื่น ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น กิเลสทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม ย่อมเกิดไม่ได้ กิเลสกับกุศลธรรม เป็นธรรมคนละฝ่าย ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เพราะกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งธรรมฝ่ายชั่วทั้งหลาย แต่ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโรคทางใจ จิตของแต่ละบุคคลจึงมีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ เป็นต้น ก็มีประเภทของโรคต่างๆ มากมายเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล

แต่สำหรับคุณธรรมหรือกุศลธรรมแล้ว ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสที่เสียดแทงจิต จึงไม่มีโทษ และ กุศลธรรม ก็มีสุขเป็นผล ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย

การขัดเกลากิเลส ที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ต้องอาศัยการเจริญกุศล สะสมความดี ทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ สำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่มีปัญญาคมกล้าจนถึงขั้นที่จะสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ ได้นั้น โอกาสใดที่จะได้สะสมกุศล ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดๆ ก็ตาม หรือ เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะละเลยโอกาสนั้นไป เพราะโอกาสของการได้สะสมกุศล ทำดีในชีวิตประจำวันนั้น เป็นโอกาสที่หายาก เกิดก็น้อย เทียบส่วนกันไม่ได้เลยกับขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดบ่อยมากเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีโอกาสของกุศลธรรมได้เกิดขึ้นบ้างเลย นับวันอกุศลธรรมก็จะสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก ไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และไม่ประมาทในการเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของการเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมได้ ในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป นั้น ธรรมฝ่ายที่มีคุณหรือคุณธรรมก็เจริญขึ้นในจิตใจ เป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่งในชีวิต


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hetingsong
วันที่ 23 ก.ค. 2565

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 ก.ค. 2567

กราบขอบพระคุณยินดีในความดีค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ