การรู้วาระจิตคน

 
oom
วันที่  23 ก.ค. 2550
หมายเลข  4343
อ่าน  5,760

เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค ๕๐ ดิฉัน และคณะได้เดินทางไปทำบุญเลี้ยงพระเพล และถวายเทียนเข้าพรรษาที่วัดเขาพระ อยู่ที่อำเภอพัฒนานิคม จ. ลพบุรี ไปถึงวัดเวลา

ประมาณ ๙.๓๐ น. ก็ไปกราบพระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดเขาพระ ท่านก็ถามว่ามาทำอะไร ก็บอกท่านไปว่าตั้งใจมาทำบุญเลี้ยงพระ และคุยอยู่สักพักหนึ่ง ท่านก็ถามว่ามีอะไรอีกไหม ทุกคนที่ไปก็เงียบ ไม่มีใครตอบว่าอะไร ส่วนดิฉันก็ไม่ได้พูดอะไร แต่นึกอยู่ในใจว่า อยากให้ท่านแสดงธรรม ให้คณะของข้าพเจ้าฟังจังเลย ปรากฎว่าท่านพูดต่อเป็นธรรมะ สอนให้คณะของดิฉันทั้งตอนเช้าและหลังจากฉันอาหารเพลเสร็จแล้ว

ดิฉันมีความสุขมากเลยที่ได้ตามความตั้งใจว่าอยากให้ท่านเทศน์ให้ฟัง จึงคิดว่าท่านน่าจะรู้วาระจิตของเราว่าต้องการอะไร ท่านจึงเทศน์สอนเรื่องที่ตรงใจเราแสดงว่าท่านมีอภิญญาหรือไม่ที่รู้ใจเรา จึงได้สอนธรรมะเราตามที่เราปรารถนา


Tag  จิต  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 25 ก.ค. 2550

ควรทราบความจริงตามหลักพระธรรมของพระพุทธเจ้าว่า อภิญญาจิตเป็นจิตที่มีความรู้พิเศษ เกิดจากการอบรมสมถภาวนา จนบรรลุฌานจิตทั้งรูปฌานและอรูปฌานและมีความชำนาญจึงสามารถกระทำอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ อภิญญา บางแห่งแสดง ๕ อย่าง บางแห่งมี ๖ คือ อิทธิวิธ ๑ ทิพย์โสต ๑ เจโตปริยญาณ ๑ ปุพเพนิวาสญาณ ๑ ทิพย์จักขุ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ ดังนั้น ในยุคปัจจุบันนี้ในโลกมนุษย์ตามหลักพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ คือ ไม่มีผู้ที่มีอภิญญาจิต เพราะเป็นยุคเสื่อม แม้ผู้ศึกษาพระธรรมในพระไตรปิฎกจนเข้าใจก็ยังหายาก พระภิกษุที่ประพฤติตามพระธรรมวินัยก็หายาก ไม่ต้องกล่าวถึงผลคือการบรรลุคุณวิเศษขั้นอภิญญาจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
oom
วันที่ 25 ก.ค. 2550

แสดงว่าเป็นความบังเอิญใช่หรือไม่ ถ้าบอกว่าในปัจจุบันไม่มีพระภิกษุที่ประพฤติ

ตามพระธรรมวินัย ก็แสดงว่าเป็นการเข้าใจผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยการดักใจได้ ไม่จำเป็นต้อง รู้วาระจิตด้วยอภิญญา แต่ถ้าเป็นอภิญญาจิตแล้วก็ต้องอบรมเหตุให้สมควรกับผล จะถือเพียง ตรงกับใจเราพอดีแล้วกล่าวว่า รู้วาระจิตไม่ได้ เพราะนั่นไม่ใช่เหตุที่จะได้อภิญญาและการที่จะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นผู้ที่มีอภิญญาจิตเหมือนกัน หรือมีปัญญาเท่ากันหรือมากกว่า ดังนั้น การที่ตรงกับใจเราไม่ใช่ข้อประมาณในการตัดสินว่า มีวาระจิตหรือเปล่า ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสกับ ชาวกาลามว่า อย่าเชื่อเพราะคาดคะเนครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกในเรื่องนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 ก.ค. 2550

การดักใจ รู้ใจมีหลายประการ คือ

๑. พูดดักใจโดยนิมิต

๒. ได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์หรือเทวดา ก็รู้ใจ

๓. ได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรอง

๔. มีอภิญญาจิต

เชิญคลิกอ่าน ... รู้ใจเพราะ ดูนิมิต

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 ก.ค. 2550

ตัวอย่าง ได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองก็ดักใจได้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 264

เล่ากัน ว่า ชายผู้หนึ่ง คิดว่า เราจะไปแก้คดี ออกจากบ้านไปสู่นครนับแต่ที่ๆ ออกเดินทางไป ก็ครุ่นคิดอยู่ว่า ในศาล เราจักทำสิ่งนี้ จักพูดคำนี้แด่พระราชา ราชมหาอมาตย์ ได้เป็นเสมือนว่า ไปสู่ราชสกุลแล้ว เหมือนกับได้ยืนต่อพระพักตร์ของพระราชาแล้ว และเหมือนกับกำลังให้การอยู่กับผู้พิพากษา. บุรุษผู้หนึ่งได้ยินเสียงนั้นของเขาที่เปล่งออกไป ด้วยสามารถแห่งวิตกและวิจาร จึงถามว่า ท่านจะไปด้วยเรื่องอะไร. เขาตอบว่า จะไปแก้คดี. บุรุษนั้นจึงพูดว่า ไปเถิด ท่านจะมีชัยชนะ. เขาไปแก้คดีแล้ว ประสบชัยชนะ.

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
oom
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ขอบพระคุณค่ะ ที่ให้ความรู้ความเข้าใจ ดิฉันเคยมีประสบการณ์กับตัวเอง คือ เรื่องเหตุการณ์ในอนาคตที่มาเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตามที่เราคิด โดยก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร อยู่ๆ จิตก็ระลึกไปเอง และก็มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ แบบนี้ถือว่าเป็นนิมิตหรือไม่ หรือบางครั้งเราระลึกถึงเพื่อนอยากโทรศัพท์หา แต่ยังไม่ทันได้โทร. เพื่อนก็โทร.กลับมาหาเราก่อน เป็นเพราะกระแสจิตที่ผูกพันกันหรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ไปแปลกที่เพื่อนจะโทรมา ตรงกับช่วงเวลาที่เราอยากโทรหาเขา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

คำอธิบาย คำว่า “จิต” ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์มีต่อไปว่า จะอธิบายคำว่า “จิตฺต” ต่อไป ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิดอธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺต” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺต” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึง ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก อนึ่ง แม้จิตทุกดวงชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ชื่อว่า “จิต”เพราะกระทำให้วิจิตร

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ถ้าศึกษาจากตำรารุ่นหลังๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็จะทราบว่าลักษณะของจิต ๖ อย่างที่กล่าวไว้ในตำรารุ่นหลังๆ นั้นมาจากข้อความในอัฎฐสาลินีอรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ ซึ่งอธิบายคำว่า “จิต” ที่สามารถจะแยกออกได้เป็นข้อๆ คือ

ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่า เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ๑
ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑ ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ๑ ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ๑ (ข้อนี้ ส่วนมากในตำรารุ่นหลังแยกเป็น ๒ คือ เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ ๑ และเพราะวิจิตรด้วยสัมปยุตธรรม ๑)

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทำให้วิจิตร ๑

ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงตามลำดับ เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตตามที่กล่าวไว้ในอัฎฐสาลินี ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์ ทุกท่านคิดเสมอ ถ้าสังเกตพิจารณาความคิด ก็จะเห็นได้ว่าช่างคิดเสียจริง และคิดไปต่างๆ นานา ไม่มีทางยุติความคิดได้เลย จนกระทั่งบางท่านไม่อยากจะคิด อยากจะสงบๆ คือ หยุดไม่คิด เพราะเห็นว่าเมื่อคิดแล้วก็เดือนร้อนใจ เป็นห่วง วิตกกังวล กระสับกระส่าย ด้วยโลภะบ้างหรือด้วยโทสะบ้าง และเข้าใจว่าถ้าไม่คิดเสียได้ก็จะดี แต่ให้ทราบว่าจิตนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่คิด รูปธรรมคิดไม่ได้ เมื่อพิจารณาเรื่องที่จิตคิด ก็จะรู้ได้ว่าเพราะเหตุใดจิตจึงคิดเรื่องอย่างนั้นๆ ซึ่งบางครั้งไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลยตามปกติจิตย่อมเกิดขึ้น คิดไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างอยู่เรื่อยๆ จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจัง แต่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องราวจริงจังทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงเพราะจิตเกิดขึ้นคิดเรื่องนั้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้นก็จะไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ข้อความในอัฎฐสาลินีว่า ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ สภาพ “รู้” มีลักษณะต่างกันตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ เช่นเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เจตสิกแต่ละประ เภทเกิดขึ้น พร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับจิต พร้อมกับจิตแต่ผัสสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ โดยกระทบอารมณ์ ซึ่งถ้าผัสสเจตสิกไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่กระทบอารมณ์ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์ ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้ธรรมเห็นธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคลของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น มีคำอธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์จึงไม่ใช่การรู้อย่างผัสสะ ที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างสัญญาที่จำหมายลักษณะของอารมณ์ ไม่ใช่การรู้อย่างปัญญา แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ต่างกันไหม สภาพธรรมเป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ ขณะนี้เห็นสิ่งเดียวสีเดียวหมดหรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีต่างๆ อย่างละเอียด จนทำให้รู้ความต่างกันได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียมเป็นต้น จิตเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง คือ รู้แจ้งแม้ลักษณะที่ละเอียดต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ อุปมาเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด ไม่ว่าสิ่งใดจะผ่านก็ย่อมปรากฏเงาในกระจกฉันใด ขณะนี้จักขุปสาทเป็นรูปซึ่งมีลักษณะประดุจใสพิเศษ สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทสามารถกระทบเฉพาะเสียง ฆานปสาทสามารถกระทบเฉพาะกลิ่น ชีวหาปสาทสามารถกระทบเฉพาะรส กายปสาทสามารถกระทบเฉพาะรูปที่กระทบกาย ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสีสันวัณณะอย่างใดๆ ก็ตาม จะเป็นสีเพชรแท้ เพชรเทียม หยกหิน หรือแม้สีแววตาที่ริษยา ก็ปรากฏให้จิตเห็นได้ทั้งสิ้น ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่รู้แจ้ง ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างไรจิตก็รู้แจ้งในลักษณะที่ปรากฏนั้นๆ คือ เห็นสีสันต่างๆ ทั้งหมดของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ จึงทำให้รู้ความหมาย รู้รูปร่างสัณฐานและคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดหรือต่างกัน เป็นแต่ละเสียงตามปัจจัยที่ทำให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้น คนมีเท่าไรเสียงของแต่ละบุคคลก็ต่างกันไปเท่านั้น จิตรู้แจ้งทุกเสียงที่ปรากฏต่างๆ กัน เสียงเยาะเย้ยเสียงประชดถากถางดูหมิ่น เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงสัตว์ร้อง สัตว์นานาชนิดก็ร้องต่างๆ กัน หรือแม้คนที่เลียนเสียงสัตว์ จิตก็รู้แจ้งของลักษณะของเสียงที่ต่างกัน จิตได้ยินเสียงรู้แจ้ง คือ ได้ยินเสียงทุกเสียงที่ต่างกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏได้ ก็เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์นั้นๆ ที่ปรากฏ จิตที่รู้แจ้งทางจมูกเกิดขึ้นรู้แจ้งกลิ่นต่างๆ ที่ปรากฏ กลิ่นสัตว์ทุกชนิด กลิ่นพืชพันธุ์ดอกไม้นานาชนิด กลิ่นอาหาร กลิ่นแกง กลิ่นขนม ถึงไม่เห็นเพียงได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นอะไร จิตที่รู้แจ้งทางลิ้น เกิดขึ้นลิ้มรสต่างๆ รสอาหารมีมากมาย รสเนื้อรสผัก รสผลไม้ รสชา กาแฟ รสเกลือ รสน้ำตาล รสน้ำส้ม รสมะนาว รสมะขาม เป็นรสที่ไม่เหมือนกันเลย แต่จิตที่ลิ้มรสก็รู้แจ้งรสต่างๆ ที่ปรากฏแม้ว่าจะต่างกันอย่างละเอียดเพียงใด จิตก็สามารถรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันอย่างละเอียดนั้นได้ เช่น ขณะชิมอาหาร จิตที่ลิ้มรสรู้แจ้งในรสนั้นจึงรู้ว่ายังขาดรสอะไร จึงต้องปรุงอะไร ใส่อะไร เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

จิตที่รู้แจ้งสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ที่กระทบกายเช่น ลักษณะของเย็นลม เย็นน้ำ หรือเย็นอากาศ รู้ลักษณะของผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ เป็นต้น ที่กระทบกาย ท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านกำลังยืนอยู่ที่ถนนก็เกิดระลึกรู้ลักษณะแข็งที่ปรากฏ แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถนน แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นรองเท้า แล้วต่อไปก็คิดว่าแข็งนี้เป็นถุงเท้า นี่เป็นความคิดเรื่องลักษณะแข็งที่ปรากฏ จิตที่คิดเกิดขึ้นเพราะปัจจัย เมื่อกระทบแข็งจึงคิดว่าแข็งนี้คืออะไรแข็งนี้ถนน แล้วต่อไปแข็งนี้รองเท้า แล้วต่อไปแข็งนี้ถุงเท้า จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถยับยั้ง การคิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ได้ แต่การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงได้นั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์แต่ละขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังคิดถึงถนน รองเท้าถุงเท้า ไม่ใช่ขณะที่รู้แจ้งลักษณะที่แข็ง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

ฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความจริงนั้น จะต้องรู้ชัดว่าขณะที่คิดไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่กำลังรู้เรื่องคิด จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่รู้อารมณ์ทางตา จิตคิดรู้อารมณ์ทางใจตามปกติที่สภาพธรรมปรากฏทางกาย จะเป็นลักษณะทางอ่อนนุ่มหรือแข็งก็ตาม ขณะขั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าอยู่ในที่มืดบางท่านก็อาจจะต้องลืมตาเปิดไฟขึ้นดูว่ากำลังกระทบสัมผัสอะไร ฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้วขณะที่จิตรู้แข็งนั้นไม่ใช่จิตคิดนึก ขณะที่จิตกำลังรู้แข็งนั้นไม่มีโลกของถุงเท้า รองเท้า หรือถนน ไม่มีโลกของสมมติบัญญัติใดๆ เลย มีแต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แม้สภาพทีรู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นเพียงสภาพที่รู้แข็งเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วจิตก็เกิดภายหลัง จึงคิดนึกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้แข็งแล้วสภาพที่แข็งนั้นดับไป แล้ว และจิตที่คิดเรื่องสิ่งที่แข็งนั้นก็ดับไป สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมทั้งนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดดับไม่ใช่ตัวตน

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
kchat
วันที่ 26 ก.ค. 2550

จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ เมื่อสัมผัสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็เกิดพร้อมผัสสะนั้น ก็รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์นั้น ฉะนั้น แม้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็จะต้องเข้าใจว่า “รู้แจ้งอารมณ์” คือ รู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นอารัมมณปัจจัยคือ เป็นปัจจัยให้เกิดโดยเป็นอารมณ์ของจิต จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ฉะนั้น อารมณ์ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ค. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 28 ก.ค. 2550
ขณะที่รู้วาระจิตของคนอื่น ขณะนั้นไม่รู้ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
oom
วันที่ 1 ส.ค. 2550

ความเห็นที่ 18 หมายความว่า ขณะที่เรารู้วาระจิตของคนอื่น เราไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของตนเองใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
อิสระ
วันที่ 1 ส.ค. 2550

สาธุ ... ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
wannee.s
วันที่ 1 ส.ค. 2550

คนละขณะ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่รู้วาระจิตของคนอื่นด้วยอภิญญาจิตต้องเป็นอกุศล แต่เป็นกุศลหรือกิริยาจิตก็ได้ เช่น พระพุทธเจ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 28 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ