ลักษณะการเกิดดับของรูป ภวังคจิต จุติจิต เกิดดับที่ไหนในรูป

 
ucat97
วันที่  24 ส.ค. 2565
หมายเลข  43523
อ่าน  533

กราบเรียนถาม2ข้อครับ

1. ทราบว่า การเกิดดับของ"รูป"ต่างกับนาม (จิต) คือ "จิต" ดับแล้วมีการสืบต่อเป็นอนันตรปัจจัย ส่วนรูปดับแล้วมีการสืบต่อหรือไม่ อย่างไรครับ

2. ภวังคจิต จุติจิต อาศัยอยู่ส่วนใดในรูป ขณะทำกิจสืบต่อจากจิตอื่น

ด้วยความเคารพอย่างสูงและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 ส.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ทราบว่า การเกิดดับของ"รูป"ต่างกับนาม (จิต) คือ "จิต" ดับแล้วมีการสืบต่อเป็นอนันตรปัจจัย ส่วนรูปดับแล้วมีการสืบต่อหรือไม่ อย่างไรครับ

รูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ รูปเวลาเกิดขึ้น ก็เกิดเป็นกลุ่ม บางกลุ่มเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน รูปแต่ละกลุ่ม ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ เกิดแล้วก็ดับไป แต่ละกลุ่มก็เป็นแต่ละกลุ่ม โดยไม่ปะปนกัน ไม่มีความสืบต่อกันเหมือนอย่างนามธรรมคือจิต และเจตสิก

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ขอกล่าวถึง “อนันตรปัจจัย” ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบแล้วว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว จิตที่เกิดและดับไปนั้นเป็นปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิดขึ้นในขณะต่อไปของจิตได้เลย ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ และยังไม่ถึงจุติจิต ก็จะต้องมีจิตเกิดต่อจากจิตดวงที่ดับไป เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับไปแล้วก็ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งรูปธรรมไม่เป็นอย่างนั้น นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

ท่านผู้ฟังก็อาจจะเห็นรูป ก็ไม่ได้สูญหาย อย่างจักขุปสาท รู้โดยการฟังว่า เกิดดับ จึงมีการเสื่อม มีโรคตา เพราะเหตุว่าถ้าเกิดมาอย่างไรคงอยู่อย่างนั้น ก็ไม่มีโรคตาต่างๆ แต่เพราะแม้รูปธรรมก็เกิดดับ แม้ว่าจะช้ากว่าจิต แต่เมื่อรูปธรรมหนึ่งดับไป การดับไปของรูปธรรมนั้น ไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปธรรมอื่นเกิดต่อ แต่ว่ารูปธรรมอื่นซึ่งเกิดต่อ เกิดเพราะสมุฏฐานของตนเป็นปัจจัย เช่น ทุกท่านขณะนี้มีจักขุปสาทกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จักขุปสาทใดซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ และกระทบกับรูปารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ เพราะอาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ แต่เมื่อจักขุปสาทดับไป การดับของจักขุปสาทนั้นไม่ใช่อนันตรปัจจัยที่จะให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่จักขุปสาทที่เกิดต่อจากจักขุปสาทนี้ มีกรรมเป็นปัจจัย

เพราะฉะนั้นจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้ากรรมไม่กระทำให้จักขุปสาทเกิด บุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่ตาบอดทันที

เพราะฉะนั้นการดับไปของจักขุปสาท ไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่การดับไปของจิตและเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตและเจตสิกต่อไปเกิดขึ้น

นี่เป็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม


2. ภวังคจิต จุติจิต อาศัยอยู่ส่วนใดในรูป ขณะทำกิจสืบต่อจากจิตอื่น

ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า รูปธรรมกับนามธรรม จะไม่ประกอบพร้อมกัน จะไม่เจือปนกันอย่างเด็ดขาด รูปธรรม เป็น รูปธรรม นามธรรม เป็น นามธรรม

ภวังคจิต กับ จุติจิต เป็นจิตชาติวิบาก จิตที่ทำกิจนี้ได้ ได้แก่ มหาวิบาก ๘ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตรีณอกุศวิบาก ๑ รูปาวจรวิบาก ๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทใดที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพนั้น เมื่อวิบากจิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ วิบากจิตนั้นก็ทำกิจภวังค์ และทำกิจจุติ ในภพนั้นๆ ด้วย

สำหรับ ภวังคจิตและจุติจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ อบายภูมิ ๔ มนุสสภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น และรูปพรหมภูมิ (เว้นอสัญญสัตตาพรหม) เกิดที่หทยวัตถุ อาศัยหทยวัตถุ เป็นที่เกิด

ส่วนภวังคจิตและจุติจิต ในภูมิที่มีแต่นามธรรม (ไม่มีรูปธรรม) คือ ในอรูปพรหมภูมิ นั้น อาศัยเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน เกิดขึ้น ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
talaykwang
วันที่ 24 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 25 ส.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจิตต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง และยินดีในความดีของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ucat97
วันที่ 25 ส.ค. 2565

ขอกราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ