การฉันอาหาร

 
neo123
วันที่  26 ส.ค. 2565
หมายเลข  43543
อ่าน  1,647

กราบเท้าท่านอาจารย์และคณะทุกท่านครับ กระผมมีคำถามครับ วันนี้ฟังการสนทนาธรรมะ และมีลุงท่านนึ่งถามเรื่องการฉันอาหาร ว่าทำไมฉันไม่เหมือนกัน ส่วนตัวผมเข้าใจว่า (ฉันมื้เดียว=ครั้งเดียว) ถ้า2ครั้งขึ้นไปผิดพระวินัย และต้องอาบัติ แต่พอได้ยินคำตอบว่า หลายครั้งก็ได้ถ้าไม่เกินเที่ยง ห๊ะ ห๊ะ ผมถึงกับปิดยูทูป แล้วเข้ามาถามในกลุ่มไลน์เลยครับ แล้วมีพี่สาวคนนึ่งส่งมาให้อ่าน โอ้ว์เจอว่า10ครั้งก็ได้เพราะอยู่ในมื้อเดียว ผมนี้มือกุมหัวเลยครับ อย่างไรกันแน่ สาวกของพระองค์ พระวินัยของพระองค์ขัดเกลาขนาดไหน แล้วพระองค์จะให้ฉันหลายครั้งได้หรือครับ ผมก็เลยคิดว่า แล้วจะต่างกับโยมหรือครับ ยังไม่เที่ยงก็กินไปตั้งหลายครั้ง

(ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์และคณะทุกท่านอีกครั้ง กระผมฟังธรรมะทุกวันครับเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่กระผมก็จะฟังไปเรื่อยๆ ที่มีโอกาส กระผมเป็นคนลาวครับ มาทำงานที่อุบล บวช6เดือนช่วงอายุ20 ได้ความรู้แบบผิดๆ ถูกๆ สึกมาก็ฟังธรรมมาเรื่อยๆ จนมาเจอท่านอาจารย์ จึงเข้าได้ว่าที่ผ่านมาไม่รู้อะไรเลย ถ้ามีคนมาถามแบบอาจารย์ ก็งงเลยครับ จะขอฟังธรรมะจนกว่าจะไม่สามรถฟังได้ครับ กราบด้วยความเคารพอีกครั้ง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 ส.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับผู้ที่เห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของความวุ่นวายในเพศคฤหัสถ์ ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย การกระทำและความเป็นอยู่ของท่านจึงต่างจากคฤหัสถ์ราวฟ้ากับดิน การบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุต้องเป็นเวลาที่สมควร คือ ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น เลยเวลาเที่ยงไปเรียกว่าเวลาวิกาล เป็นเวลาที่ไม่สมควรในการบริโภคของพระภิกษุ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ จะบริโภคตอนไหน ก็ย่อมได้ อย่างนี้ ก็พอเห็นความต่างกันแล้วระหว่างเพศบรรพชิตกับเพศคฤหัสถ์

เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ในการบริโภคอาหารสำหรับพระภิกษุ คือ ตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยง จะฉันตอนไหนก็ได้ในระยะเวลาดังกล่าว ถ้าฉันอาหารในเวลาเช้าถึงเที่ยง แม้จะฉันหลายครั้ง ก็เรียกว่า ฉันมื้อเดียว คือ ไม่มีมื้อที่ ๒ เพราะท่านไม่ได้บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ตรงกับข้อความใน

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๙ ดังนี้ว่า

"บทว่า เอกภตฺติโก ความว่า ภัต มี ๒ มื้อ คือ ภัตที่พึงกินเวลาเช้า ๑ ภัตที่พึงกินเวลาเย็น ๑ ในภัต ๒ มื้อนั้น ภัตที่พึงกินเวลาเช้า กำหนดด้วยเวลาภายในเที่ยงวัน ภัตที่พึงกินเวลาเย็นนอกนี้ กำหนดด้วยเวลากินเที่ยงวันภายในอรุณขึ้น ฉะนั้น แม้จะฉันสัก ๑๐ ครั้ง ในเวลาภายในเที่ยงวัน ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉันมื้อเดียวนั่นเอง ที่ตรัสว่า มีภัตมื้อเดียว ดังนี้ ทรงหมายถึงภัตที่พึงกินเวลาเช้า นั้น"

ต้องไม่ลืมว่า พระภิกษุ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลส เป็นอย่างยิ่ง จุดประสงค์ของการฉันภัตตาหาร ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับตกแต่ง แต่เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ ไม่เดือดร้อน เพื่อประพฤติธรรมในเพศบรรพชิต การบริโภคอาหาร เป็นเรื่อง ปกติ บางท่าน ก็หิวบ่อย แต่ในเมื่อยังอยู่ในเวลาที่สามารถฉันอาหารได้ การฉันอาหารในเวลา แม้ว่าจะบ่อย จึงไม่ใช่การล่วงละเมิดพระวินัย แต่ถ้าฉันในเวลาเลยเที่ยงไปแล้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์

อีกประการหนึ่ง เวลาอ่านพระไตรปิฎก จะพบคำว่า เอกาสนิกังคะ แปลว่า องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน อาสนะเดียว (ที่นั่งเดียว) เป็นปกติ กล่าวคือ นั่งฉันอาหาร ที่นั่งที่เดียวจนกว่าจะฉันเสร็จ ไม่นั่งหลายที่ โดยความหมายแล้ว ก็คือ ในช่วงเวลาอรุณขึ้นจนถึงเที่ยง จะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉัน ณ ที่นั้นจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่ฉันอาหารอะไรอีกเลย อันนี้ไม่ได้มีพระวินัยบัญญัติว่าจะต้องฉัน ณ อาสนะเดียวหรือฉันครั้งเดียว เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยของภิกษุผู้มุ่งจะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น แต่มีสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า พระภิกษุ จะฉันอาหารในเวลาวิกาลไม่ได้ ดังนั้น ในช่วงเวลาอรุณขึ้นจนถึงเที่ยง พระภิกษุ จะฉันกี่ครั้ง ก็ย่อมได้ ซึ่งก็ต้องดูสิกขาบทอื่นประกอบด้วยว่า เป็นอาหารที่ได้รับประเคนเรียบร้อย เป็นต้น

ดังนั้น ก็เข้าใจได้ว่า ถ้ายังอยู่ในเวลาเช้าถึงเที่ยง ก็เรียกว่า ฉันมื้อเดียว เพราะไม่ได้ฉันในเวลาวิกาล (กล่าวคือ ไม่มีมื้อที่ ๒) แต่ถ้าเป็นผู้จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น ก็ฉันครั้งเดียว ซึ่งตรงกับคำว่า เอกาสนิกังคะ นั่นเอง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Witt
วันที่ 28 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
neo123
วันที่ 28 ส.ค. 2565

กราบบูชาในพระธรรมครับ จะฟังให้มากขึ้น แม้จะเข้าใจยากก็จะไม่ท้อครับ ยินดีในบุญ ยินดีในธรรมครับผม

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ