[คำที่ ๕๗๕] อาสา

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ส.ค. 2565
หมายเลข  43545
อ่าน  549

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อาสา

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อาสา ตามภาษาบาลีว่า อา - สา แปลว่า ความหวัง, ความอยาก เป็นอีก ๑ คำ ที่แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง คือ โลภะ หรือ ตัณหา ไม่ว่าจะหวังอะไร อยากได้อะไร ก็ไม่พ้นจากโลภะหรือ ตัณหาเลย เช่น ความหวังในลาภ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ โลภเจตสิก นั่นเอง

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้อธิบายความเป็นจริงของ อาสา ไว้ดังนี้

“ตัณหา ที่ชื่อว่า อาสา (การหวัง) เพราะการหวังอารมณ์ทั้งหลาย อธิบายว่า เพราะครอบงำ และ เพราะการบริโภคไม่รู้จักอิ่ม”


ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ก็มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปพิจารณา และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปได้ในทันทีทันใด

ธรรมทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพราะได้อาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง สัตว์โลกจึงได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงเกิดปัญญาเป็นปัญญาของตนเอง และสิ่งที่มีจริงนั้นมีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่มีจริงที่ไหน แม้แต่โลภะก็มีจริง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีโลภะที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าพระองค์จะตรัสเรื่องอะไร ก็ทรงแสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ทั้งหมด จนกว่าสัตว์โลกจะเข้าใจขึ้น นี้คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม ซึ่งมีค่าทุกครั้งที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น

ความเป็นไปของโลภะมีหลากหลายมาก เช่น ราคะ (ความใคร่) ตัณหา (ความอยาก, ความต้องการ) นันทิ (ความเพลิดเพลิน) วิสัตติกา (สภาพที่ซ่านไปในอารมณ์) เป็นต้น รวมถึง อาสา ที่หมายถึง ความหวังอีกด้วย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อความเข้าใจโลภะ ตามความเป็นจริง ก็จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระองค์ที่ทรงแสดงลักษณะของธรรมโดยละเอียด แม้แต่โลภะ ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะไม่ทราบเลยว่า แม้แต่เพียงความติดข้องเล็กๆ น้อยๆ หวังหรืออยากได้ในสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีกำลังแรงกล้าจนถึงทำทุจริตกรรม ก็เป็นลักษณะของอกุศลธรรมที่เป็นโลภะ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีวันพอ ไม่มีวันอิ่มเลยสำหรับโลภะ เมื่อโลภะเกิด ก็เป็นผู้ถูกครอบงำด้วยโลภะ เป็นไปตามโลภะ ไม่ปล่อยให้เป็นกุศลเลย

โลภะหรือตัณหา ซึ่งเป็นสภาพที่หวังหรืออยากได้นั้น เป็นสิ่งที่ละยากอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าไม่มีปัญญาคือความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการดับโลภะ อุปมาเหมือนกับถ้าจะขุดต้นไม้พร้อมทั้งราก เอามาตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยแล้วเอาไฟเผาทำลาย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากที่จะทำได้ แต่โลภะความติดข้องต้องการ ฝังรากลึกในจิตใจมานานเพราะได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ทำลายไม่ได้โดยง่าย เนื่องจากว่าโลภะเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะทำลายโลภะได้ โลภะอันดับแรกที่จะต้องดับหรือทำลายก่อน คือโลภะที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกเลยแล้วก็มีตัวตนที่พยายามที่จะไปละโลภะ โดยไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้เลย มีแต่จะเพิ่มโลภะให้มากขึ้น เพราะโลภะไม่สามารถดับโลภะได้ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ต้องพิจารณาโดยละเอียด เพื่อที่จะได้ผลที่ประเสริฐจริงๆ คือเพื่อที่จะรู้ได้ว่าอกุศลธรรมใดเป็นสิ่งซึ่งจะต้องดับหรือทำลายก่อน มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเพียรพยายามที่จะละโลภะ ย่อมไม่สามารถที่จะเป็นไปได้เลย ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

สำหรับบุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์พระธรรม ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะ ยังมีความหวังความต้องการอยู่ก็ตาม ซึ่งเป็นชีวิตปกติธรรมดา เมื่อได้เหตุปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้ หากดับโลภะได้หมดสิ้น ก็เป็นผู้ไม่มีความหวังความต้องการใดๆ อีกเลย การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทน จริงใจ ตั้งใจมั่นที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ซึ่งเป็นเรื่องละความหวังความต้องการโดยตลอด และจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ส.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 29 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nui_sudto55
วันที่ 26 มี.ค. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ