สติสัมปชัญญะ และ สติปัฏฐาน

 
Anatta00
วันที่  5 ก.ย. 2565
หมายเลข  43620
อ่าน  555

ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยชี้แจงคำว่า สติสัมปชัญญะ และ สติปัฏฐาน ว่าแตกต่างกันอย่างไร จากข้อความส่วนหนึ่งในอวิชชาสูตร ท่านตรัสว่า...

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้ บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำ ไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อม ยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

สติสัมปชัญญะ ก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง สติปัฏฐานก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยชี้แจงครับ ขอบคุณครับ

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก คำว่า สติสัมปชัญญะ ถ้ากล่าวโดยละเอียด เป็นปรมัตถธรรมประเภทเจตสิก กล่าวคือไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป แต่เป็นสภาพธรรมดังนี้คือ สติเป็นสติเจตสิก สัมปชัญญะเป็นปัญญาเจตสิก และจะต้องมีเจตสิกอีกหลายประเภทที่เกิดร่วมกัน เช่น ผัสสะ เวทนา เจตนา มนสิการ วิริยะ ศรัทธา เป็นต้น และเจตสิกเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีจิต

ถ้ากล่าวถึง สติสัมปชัญญะ แล้ว มีหลายขั้น เป็นทั้งการอบรมเจริญความสงบของจิต คือ สมถภาวนา และ เป็นทั้งการอบรมเจริญวิปัสสนา สติสัมปชัญญะ จึงกว้างมาก ไม่ใช่เฉพาะการอบรมเจริญวิปัสสนา เท่านั้น แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ ด้วย

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ปัญญาเกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เกิดเมื่อใดก็ทำกิจหน้าที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ปัญญามีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ซึ่งตามการศึกษาก็พอที่จะเข้าใจถึงปัญญาที่เป็นระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ตามระดับขั้นของปัญญา

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กุศลจิตเกิด ย่อมไม่ปราศจากสติ และ สภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่สภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็นธรรมคนละประเภทกัน ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

สติเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติจึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นไปในทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เป็นไปในศีล คือ การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ เมื่อสติเกิดขึ้นก็ทำให้งดเว้นจากอกุศลธรรม สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา อบรมความสงบของจิต และ สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

สติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ปัญญาเกิดต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นนั้น ต้องเป็นสติและปัญญา ที่เป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง (วิปัสสนาภาวนา) เท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
xaychlisaengthxng7
วันที่ 5 ก.ย. 2565

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ