ปัญญาในภาษาไทย กับ ปัญญาในพระพุทธศาสนา
เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเรื่องการฟัง เหมือนกับว่าการฟังธรรมนี้สำคัญสูงสุด บางคนอาจจะไม่มีโอกาสที่จะไปฟังธรรม ถ้าจะอ่านหนังสือท่านพุทธทาส หรือหนังสือของหลวงพ่อองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วสามารถจะละกิเลสได้ ดิฉันคิดว่าก็เป็นวิธีการที่จะปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ที่ดิฉันฟังจากอาจารย์พูดนี้ ดิฉันรู้สึกว่าที่ท่านอาจารย์อธิบายมาทั้งหมดนี้ ก็คือการที่ว่า ถ้าเมื่อไรเราไม่มีตัวตน เราไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ขณะที่พูดนี้ก็คิดว่าเป็นจิตของเรามาประกอบกัน เนื้อหนังมังสาเอ็นกระดูกมาประกอบกันเป็นตัว ก็มีจิต ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา แล้วเมื่อไรก็ตามที่เราละตัวของเราได้ อันนั้นเราก็เข้าถึงธรรม อันนี้ไม่ทราบว่าจะถูกไหม ดิฉันคิดว่าทุกคนมีปัญญาทั้งนั้น เด็กเกิดมาปัญญาเขาก็เกิดมาแล้ว เพราะว่าเมื่อเขาเกิดหิว เขาก็ร้องออกมา นั่นคือปัญญา ในระดับเด็กระดับหนึ่ง เมื่อโตขึ้นมาเรียนหนังสือระดับ ป.๔ ก็มีปัญญาระดับ ป.๔ จบปริญญาตรีก็มีปัญญาระดับที่จะวิเคราะห์ปัญหาในระดับปริญญาตรี หรือจะเป็นชาวบ้านเขาก็มีปัญญาเหมือนกัน เป็นต้นว่าเขาอาจจะเป็นแม่ค้า เขาก็มีปัญญาในระดับของเขาอย่างนั้น ดิฉันคิดว่าปัญญาคืออย่างไร มีความหมายอย่างไร ลึกซึ้งขนาดไหน ไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งฟังพระแล้วปัญญาเกิด ปัญญาคืออะไรก็ตามที่มนุษย์รู้ รับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วเกิดวิเคราะห์พิจารณาแล้วเกิดความรู้สึกรู้ขึ้น ดิฉันคิดว่าเป็นบุญข้อ ๑ ในบุญกิริยา ๑๐ ประการ คือพิจารณาเห็นความเป็นจริงตามสภาวธรรม หรือว่าเห็นธรรมชาติของสิ่งนั้น ดิฉันอยากจะอธิบายเหมือนกับว่า สมมติว่าเงินเดือนออกมา ดิฉันใช้หมด ใช้ไม่เป็น สิ้นเดือนก็เดือดร้อน คืออันนั้นเราก็รู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่สามารถจัดการกับเงินของเราได้ ความทุกข์มันก็ต้องเกิด นี่ก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่ว่าปัญญาคงไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องมานั่งเรียนธรรม แล้วรู้ว่าเมื่อเสียงมากระทบหูแล้วนี้คือปัญญา ถ้าเราไม่พิจารณาอย่างนี้ไม่มีปัญญา ดิฉันคิดว่าไม่ถูก ปัญญาก็ต้องว่าปัญญา.
อีกอย่างที่ดิฉันอยากจะติง คือดิฉันเองยึดมั่นในพระพุทธศาสนามากๆ เลย แต่อาจจะทำผิด ทำไม่ถูก แต่ดิฉันได้ยินอยู่เสมอบ่อยๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ที่กล่าวว่า พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก พระบางท่านก็สอนว่าธรรมก็คือธรรมชาติ ไม่ว่าจะศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ถ้าปฏิบัติอะไรไปในลักษณะของธรรมชาติอันนั้นก็คือธรรม แล้วก็ไม่จำเป็นที่พุทธศาสนา จะต้องดีที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าทุกศาสนาก็ดีเท่ากัน ดีอย่างไร ดีในแง่ว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ
นี่เป็นเรื่องของภาษา คือการใช้คำ ตามที่ดิฉันได้เรียนให้ทราบแล้วว่าภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก ชื่อของเราส่วนมากก็มาจากภาษาบาลี แม้แต่คำว่า สติปัญญา ก็เป็นภาษาบาลีทั้งนั้น มานะก็เป็นภาษาบาลี พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นภาษาบาลี เพื่อส่องถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เช่นมานะ เป็นสภาพธรรมที่สำคัญตน เหมือนลักษณะของธงซึ่งสภาพที่สูงเด่นนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีความสำคัญตน คือเราจะดี จะชั่ว จะต่ำ จะสูง ก็คือเรา นี่คือมานะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ในภาษาไทยคำว่ามานะ ดูคล้ายกับจะเป็นกุศล เราเอาภาษาบาลีมาใช้เป็นภาษาไทยในความหมายของภาษาไทยไปเลย
ฉะนั้น เราจึงต้องรู้ว่าเรากำลังพูดถึงคำว่าปัญญาในภาษาไทย หรือกำลังพูดถึงสภาพของปัญญาในพระพุทธศาสนา การพิจารณาทั่วๆ ไปนี้ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แต่เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้ภาษาบาลีว่า มนสิการ เป็นสภาพธรรมที่สนใจใส่ใจพิจารณา ฉะนั้น เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังพูดในความหมายภาษาไทย หรือว่าเรากำลังพยายามเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นภาษาบาลี
อีกประการหนึ่ง ที่พูดว่าไม่น่าจะคิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีที่สุด เพราะดูเสมือนว่าชาวพุทธเราจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเชื่อของเราว่า เราต้องถูกหรือดีที่สุด แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมซึ่งไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น "เห็น" เป็นศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ "ได้ยิน" เป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาอะไร
"เห็น" คือ "เห็น" เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่ศาสนาอะไรเลย แต่ชาติในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มี ๔ ชาติ ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติฝรั่ง ไม่ใช่ชาติจีน ไม่ใช่ชาติญี่ปุ่น แต่เป็นชาติกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตที่เป็นกุศลไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล ไม่ได้เป็นชาติไทย ฝรั่งอะไรเลยทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ ก็จะคิดเอาเองว่าพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างนี้อย่างนั้น ควรศึกษาเสียก่อนแล้วจะได้เปรียบเทียบว่า ก่อนศึกษาและหลังศึกษานั้น ความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นถูกต้องขึ้น หรือว่าเมื่อก่อนศึกษานั้นเรารู้ดีกว่า เราไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาก็ได้
อีกอย่างหนึ่งจะเปลี่ยนคำก็ได้ คือแทนการฟังพระธรรม ก็เปลี่ยนเป็นศึกษาพระธรรม ซึ่งจะอ่านก็ได้ ฟังก็ได้ ตรึกตรองพิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามเหตุ ตามผล ชื่อว่าเป็นการศึกษา ในพระพุทธศาสนามี ๒ คำ คือ เสกขบุคคล และ อเสกขบุคคล
อเสกขบุคคล หมายถึงผู้ที่ไม่ต้องศึกษาอีก ซึ่งได้แก่บุคคลประเภทเดียวคือพระอรหันต์ พระอรหันต์กระทำกิจ "ดับกิเลส" เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำกิจดับกิเลสใดๆ อีกเลย มีศาสนาอื่นไหมที่สอนให้ดับกิเลสหมด
การเปรียบเทียบศาสนาต่างๆ นั้น ศาสนาที่สอนให้เข้าใจและประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนดับกิเลสได้จนหมดสิ้นนั้น ไม่เรียกว่าศาสนาพุทธก็ได้ กิเลสมีจริงเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีหนทางอื่นใดไหมที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสหมด นอกจากความรู้ ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมถึงขั้นดับกิเลสได้จริง นี่ไม่ใช่การยึดถือ แต่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ความเห็นมี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑ ความเห็นถูกคือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด เห็นว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นถูกหรือเห็นผิด เห็นว่าสภาพธรรมไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นมาลอยๆ นั้น เห็นถูกหรือเห็นผิด
ผู้ที่ไม่พิจารณาย่อมไม่รู้ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ จึง คิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ผู้ที่รู้นั้น สามารถหยั่งรู้และแทงตลอดในเหตุในผลของสภาพธรรม ฉะนั้น การจะดับทุกข์จึงต้องรู้เหตุของทุกข์ การจะดับกิเลสก็ต้องรู้เหตุของกิเลสจึงจะดับได้ เมื่อเหตุของอกุศลทั้งหลายคือ "อวิชชา" ธรรมที่ตรงกันข้ามคือ "วิชชา" ที่จะดับอวิชชาได้
เมื่อเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องก็พิจารณาได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ถ้าเหมือนกันก็ไม่จำเป็นต้องมีหลายศาสนา แต่เมื่อมีความคิดเห็นหลายอย่าง จึงต่าง กันเป็นหลายศาสนา ฉะนั้น จึงควรวิเคราะห์แต่ละศาสนาว่าสอนเรื่องอะไร และข้อไหนถูกข้อไหนผิด จากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมเป็นความจริงที่ไม่มีศาสนา ถูกคือถูก ผิดคือผิด
จากสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าในศาสนาไหนความกตัญญูเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เอาชื่อศาสนาออก สภาพธรรมนั้น ก็คงเป็นอย่างนั้น คือเป็นกุศลธรรม ความลบหลู่หรือความอกตัญญู ถ้าใครบอกว่าดี ก็ต้องเป็นความเห็นผิดแน่ ในเมื่อเป็นอกุศลจะดีได้อย่างไร
พระพุทธศาสนาแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ที่ประเทศอินเดียมีศาสนาอื่นมากมายหลายศาสนา มีครูที่มีชื่อเสียงเช่นสัญญชัยเป็นต้น เอาคำสั่งสอนของท่านเหล่านั้นมาตรวจเทียบดูว่า มีเหตุ มีผลไหม และไม่ใช่แต่ในยุคนั้นสมัยนั้น แม้สมัยนี้ก็ตามเราก็สามารถศึกษาศาสนาอื่นๆ และไม่ติดที่ศาสดา แต่พิจารณาว่าคำสอนนั้นถูกหรือผิดอย่างไร เหตุผลก็ต้องเป็นเหตุผล สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...