ผู้ปฏิบัติธรรม ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ทำไปแล้วจะได้อะไร
ถ. ขอแทรกสักหน่อย คือขอถามว่าผู้ปฏิบัติธรรม ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ทำไปแล้วจะได้อะไร อาจารย์ให้คำตอบได้ไหม
สุ. ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจว่าปฏิบัติธรรม คืออะไร สิ่งต่างๆ ที่ปฏิบัติไปก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น ขอเรียนถามเป็นข้อๆ คือปฏิบัติธรรมในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ที่ใช้คำว่าปฏิบัติธรรมนั้นทำอย่างไร ทุกอย่างจะเลื่อนลอยไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีความเข้าใจชัดเจน ถูกต้อง
แม้แต่คำว่า "ปฏิบัติธรรม" ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่า เขานั่งปฏิบัติธรรม เชื่อไหม พอเขาว่าปฏิบัติก็ปฏิบัติไปด้วย ก็ไม่มีเหตุผลเลย เห็นเขานั่งจ้องดินสีอรุณ แล้วเขาบอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ก็จะเชื่อหรือว่านั่นคือการปฏิบัติธรรม
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง ทรงพระมหากรุณาให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาด้วยตนเอง นี่คือพระคุณที่สูงสุด คือทำให้ผู้มีอวิชชา ความไม่รู้ เกิดมีวิชชาความรู้ขึ้น ไม่หลง ไม่งมงาย ไม่ตื่นเต้นในข่าวต่างๆ ฉะนั้น
แม้คำว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่าปฏิบัติธรรม แล้วเราก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ใครๆ ก็บอกว่าเขาปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะเหตุว่า ยังไม่เข้าใจเลยว่าปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้ว จึงจะรู้ว่าปฏิบัติธรรมหรือไม่ใช่ปฏิบัติธรรมซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ถูกต้อง
ขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ท่านพระอัสสชิท่านเดินบิณฑบาต และท่านพระสารีบุตรท่านก็รู้สึกว่า ภิกษุรูปนี้ มีกิริยาที่เป็นสมณะจริงๆ ฉะนั้น ธรรมของท่านก็จะต้องเป็นธรรมที่น่าเลื่อมใส ด้วยเหตุนี้ท่านก็ได้ติดตามท่านพระอัสสชิไป และขอให้ท่านพระอัสสชิแสดงธรรม ในขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่า เพราะว่า เมื่อจบธรรมสั้นๆ ที่ท่านพระอัสสชิกล่าวแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังนั้นท่าน พระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ขณะนั้นท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมแน่นอน
ฉะนั้นปฏิบัตินั้น ไม่ใช่นั่งหลับตา ไม่ใช่เดินผิดปกติ แต่ขณะใดที่ปัญญา เกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจ ขณะนั้นสติปัญญาปฏิบัติกิจของสติปัญญา คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดแล้วค่อยๆ เข้าใจ สะสมความรู้ความเข้าใจไปจนกว่าจะถึงกาลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งจะเป็นขณะไหนก็ได้ ขณะที่ถูกวัวขวิดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ทั้งนั้น
เพราะเหตุว่า ขณะนี้สภาพธรรมก็เป็นของจริง ซึ่งกำลังเกิดดับเป็นอริยสัจจธรรม เมื่อบุคคลใดประจักษ์แจ้งลักษณะความจริงของสภาพธรรมขณะนี้ ก็เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้เจริญจริงๆ เพราะว่าเจริญจากอวิชชาสู่วิชชา จนสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดเรื่องปฏิบัติธรรม ว่าจะเป็นอย่างอื่น ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน ขณะนี้มีชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ซึ่งได้ศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท จากพระไตรปิฏกภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลจากภาษาบาลี เขาศึกษามาประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ได้มาที่เมืองไทย เป็นผู้ที่มีความสนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมมาก
แต่ว่าเมื่อศึกษาคนเดียว ก็เป็นธรรมดาที่เขาไม่มีใครที่จะอธิบายข้อความในพระไตรปิฏก และในอรรถกถาเขามีความวิริยะอุตสาหะ ขนาดที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะเขียนภาษาไทยได้ โดยคัดลอกจากตัวหนังสือภาษาไทย และตำราพระธรรมภาษาไทยโดยเฉพาะคือพระอภิธรรม เขาสามารถที่จะเขียนวิถีจิตและเรียบเรียงได้ ตัวหนังสือก็อ่านง่ายสวยงาม แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะมาก
แต่ก็น่าเสียดายที่การศึกษาธรรมลำพังตนเอง โดยที่ไม่มีกัลยามิตรหรือสหายธรรมที่จะให้คำชี้แจง ปรึกษา หรือมีความคิดอ่านที่จะช่วยกันทำให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น จึงทำให้เขาประพฤติปฏิบัติตึงไปสำหรับคฤหัสถ์ ท่านผู้นี้ไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต แต่เป็นผู้ที่ไม่นอน รับประทานอาหารวันละมื้อเดียว และก็น้อยมากด้วย กลางคืนก็ไม่นอนเลย นั่งแล้วก็ลุกขึ้นเดิน แล้วก็นั่งแล้วก็ลุกขึ้นเดิน เขาก็ตั้งใจจะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ ตลอดชีวิต เป็นผู้ที่มีสัทธามาก
แต่ว่าเรื่องของปัญญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงอ่านแล้วคิดแล้วเข้าใจเอาเอง ท่านผู้นั้นพยายามทุกอย่างที่จะศึกษาและปฏิบัติ ตามวิสุทธิมรรค ท่านผู้นี้เคยมาเมืองไทย ๓ ครั้ง และได้มีโอกาสพบดิฉัน ซึ่งเขาก็ยังคงมีความเชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของเขา ว่าเป็นหนทางที่จะขัดเกลากิเลส แต่เขายังไม่รู้ว่ากิเลสละเอียดมาก ทันที่ที่เห็นแล้วปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นถ้าไม่ศึกษาพระธรรม จะไม่รู้เลยว่าเป็นอกุศลแล้ว
เพราะเมื่อเห็นแล้วก็ย่อมมีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นบ้าง หรือว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่น่าพอใจ ก็เกิดความไม่แช่มชื่น ก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง โดยที่ไม่รู้เลย ท่านผู้นี้พยายามที่จะทำสมาธิ แล้วก็เข้าใจว่าตนเองได้บรรลุสมาธิสูงพอสมควร เพราะเมื่อก่อนนี้เขาบอกว่าเขาต้องหลับตาจิตของเขาจึงจะเป็นสมาธิ แต่เดี๋ยวนี้เชื่อเขาเถอะเขาลืมตาเขาก็สามารถที่จะเป็นสมาธิได้
แต่ถ้าถามเรื่องปัญญา วิธีที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ ท่านผู้นี้จะตอบไม่ได้เลย ซึ่งผู้ที่เป็นพุทธบริษัทย่อมรู้ว่า พระอรหันต์เห็น แต่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปุถุชนเห็นแล้วเต็มไปด้วยกิเลส
ฉะนั้นความต่างกันที่ทำให้ จากปุถุชนสู่ความเป็นพระอรหันต์ ก็คือการสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าเห็นแล้วปัญญาไม่เกิด กิเลสก็เกิด ถ้าได้ยินแล้วปัญญาไม่เกิด กิเลสก็เกิด
ฉะนั้น ทำอย่างไร เข้าใจอย่างไร จึงจะสามารถรู้ความจริงว่า ขณะที่เห็นแล้วปัญญาเกิดแทนกิเลสนั้นเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเริ่มจากการฟังเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน แล้วสามารถที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตา เป็นนามธรรมรูปธรรมของธรรมในขณะนี้
จนกระทั่งสติเกิดระลึกได้ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน เมื่อมีปัญญาเกิด ปัญญานั้นก็สามารถที่จะละคลายการยึดถือการเห็นที่เคย เป็นเราเห็น การได้ยินว่าเป็นเราได้ยิน เมื่อหมดความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลส คือความเห็นผิดและความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีกิเลสเหลืออยู่อีกที่จะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของกิเลสนั้นๆ จนกว่าจะเห็นสภาพธรรมที่เกิดและดับว่าเป็นทุกข์ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นพระสกทาคามีบุคคลต่อจากนั้นก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งเป็นพระอนาคามีบุคคล และเมื่อดับกิเลสหมดก็เป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าเป็นได้ยาก แต่ไม่ถึงกับสุดวิสัย
ถ้าสนใจแต่เรื่องของสมาธิ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าปัญญานั้นไม่ใช่สมาธิ เพราะว่าถ้าเป็นสมาธิแล้ว จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แล้วปัญญาเจริญขึ้น ที่จริงแล้ว น่าจะพูดถึงเรื่องมิจฉาสมาธิ หรือ "มิจฉามัคค" มิจฉาปฏิปทา เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักจะนิยมปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ทราบว่าการปฏิบัติมี ๒ อย่าง คือ "สัมมามัคค" และ "มิจฉามัคค" ถ้าไม่รู้ความต่างกัน ก็จะปฏิบัติมิจฉามัคค ไม่ใช่สัมมามัคค สมาธิก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่มีแต่สัมมาสมาธิเท่านั้น มิจฉาสมาธิก็มี
ฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าสัมมาสมาธิประกอบด้วยปัญญาอย่างไร ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ สำหรับในพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าด้วยปัญญาพระผู้มีพระภาคจึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงพระธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้เกิดปัญญาของตัวเองด้วย
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...