ขอให้รู้ลักษณะของสติ ไม่ใช่สมาธิ

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43673
อ่าน  209

ถ. ...........

สุ. ท่านที่ยังไม่ได้เริ่มเจริญสติเลย จะไม่รู้ลักษณะของสติเป็นของที่แน่นอน ฉะนั้น ขอให้รู้ลักษณะของสติ ไม่ใช่สมาธิ สติกับสมาธินั้นไม่เหมือนกัน สมาธิ จิตจะต้องรู้อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ในตอนแรกๆ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนนี่จะต้องมีแน่นอน ฉะนั้น เมื่อสติยังไม่ได้เจริญขึ้นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนยังต้องมีอยู่

ถ. คำถามว่า สำหรับผู้เจริญสติ เอานามเป็นรูป เอารูปเป็นนาม เข้าใจไขว้ๆ เขวๆ ไปบ้าง เป็นประโยชน์ไหม

สุ. แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญเพื่อกุศล หรือเพื่อว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละความเห็นผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามและรูป หรือว่าเพื่ออะไร ถ้าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความสงสัย เพื่อละความเห็นผิดในลักษณะของนามและรูปแล้ว ผู้นั้นก็จะต้องพิจารณา แล้วปัญญาก็ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าหลงเข้าใจผิด ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ใน ปัคคัยหสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เทวดาและมนุษย์เป็นผู้มีรูป เป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป เทวดาและมนุษย์ย่อมอยู่ เป็นทุกข์ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ และเรื่องธรรมารมณ์ว่า เทวดาและมนุษย์นั้นก็เป็นผู้ที่มีความยินดี ผู้ยินดีแล้วในสิ่งเหล่านั้น เพลิดเพลินแล้วในสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นแปรปรวน คลายไปดับไปย่อมอยู่เป็นทุกข์

อันนี้เพียงแต่พยัญชนะในเบื้องต้น เราก็จะเห็นได้ว่าเป็นความจริง มีใครบ้างที่ไม่ยินดี ไม่พอใจในรูป รูปที่เห็นทางตาและเสียงที่ได้ยินทางหู กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ต่างๆ รวมทั้งธรรมารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ ก็เป็นสิ่งที่บังเราอยู่ ทำให้เราติดทำให้เราเพลิน เวลาที่ติด เวลาที่เพลินมาก ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะพิจารณารู้ลักษณะที่แท้จริงของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ ที่ปรากฏ ที่กระทบอยู่ตลอดทุกๆ วัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ฉะนั้น ก็ให้รับทราบความจริงอันนี้ด้วย ว่าก็ยังเป็นผู้ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แล้วก็เมื่อสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนไป ดับไป ก็ย่อมเป็นทุกข์ อันนี้สำหรับเทวดาและมนุษย์

ส่วนตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้วซึ่งความเกิด ขึ้น ความดับไป คุณโทษและอุบายเครื่องสลัดออก แห่งรูปทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี ไม่เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป ไม่เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข ผู้ที่ฉลาดและรู้แจ้งแล้วก็ไม่ติดในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเวลาที่สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็ไม่ทำให้ผู้นั้นเป็นทุกข์ ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไป มีข้อความว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปรารถนา น่าใคร่ เหล่านั้น ดับไปในที่ใด เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น สมมติว่าเป็นทุกข์คือว่า พอใจสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจนั้นดับไป เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่าเป็นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะ (สักกายะ ก็คือการประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งได้แก่รูปารมณ์เป็นต้นที่บุคคลถือว่าเป็นของตน)

เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะที่ดับไป เพราะเห็นว่า การดับสักกายะที่ดับไปนั้นเป็นสุข การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอย่างนี้ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง เธอจงเห็นธรรมอันรู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้ เหมือนความมัวมลย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น นิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้

ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปรารถนาน่าใคร่เหล่านั้น ดับไปในที่ใด เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น สมมติว่าเป็นทุกข์คือว่าพอสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจนั้นดับไป เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่าเป็นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะ (สักกายะก็คือการประชุม รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งได้แก่รูปารมณ์เป็นต้นที่บุคคลถือว่าเป็นของตน) เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะที่ดับไป เพราะเห็นว่าการดับสักกายะที่ดับไปนั้นเป็นสุข

การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง เธอจงเห็นธรรมอันรู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้ เหมือนความมัวมล ย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็นนิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้ธรรมนี้อันบุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ ผู้แล่นไปตามกระแสตัณหาในภพ ผู้อันห่วงแห่งมารท่วมทับ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย ใครหนอ เว้นจากพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรเพื่อจะตรัสรู้นิพพานบทที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ในตอนแรกก็จะเห็นได้ว่า ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้ แล้วต่อไปว่า ใครหนอ เว้นจากพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรเพื่อจะตรัสรู้นิพพานบทที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

นิพพานนี้ใกล้หรือไกล ใกล้ตามพระสูตรนี้ ถ้าพระสูตรว่าอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ เมื่อพระสูตรบอกนิพพานใกล้ นิพพานก็เลยใกล้ แต่ว่าในที่อื่น แห่งอื่นพยัญชนะอื่น นิพพานไกล นิพพานใกล้สำหรับใคร ไกลสำหรับใคร ที่ว่านิพพานมีอยู่ในที่ใกล้ เวลานี้นิพพานอยู่ที่ไหน ที่ว่า

นิพพานอยู่ในที่ใกล้ ที่ใกล้ก็คือในที่นี้เอง แล้วนิพพานอยู่ที่ไหนเวลานี้ ที่ใกล้ๆ มีอะไรบ้างดูซิว่า เป็นนิพพานหรือเปล่า ใกล้ในเวลานี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เห็น ใกล้หรือไกล ถ้ากำลังได้กลิ่นๆ กำลังปรากฏ กลิ่นนั้นใกล้หรือไกล รส ขณะที่กำลังรับประทานอาหารแล้วก็รสปรากฏ กำลังปรากฏในขณะนั้น รสใกล้หรือไกล โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีใครที่กำลังรู้สึกเย็น รู้สึกร้อนในขณะนี้บ้างไหม ถ้ามีสภาพเย็นที่กำลังปรากฏ เมื่อกำลังปรากฏ แล้วจะกล่าวว่าไกลได้อย่างไรเพราะเหตุว่ากำลังปรากฏ ไม่ใช่เย็นเมื่อวานนี้ หรือไม่ใช่เย็นพรุ่งนี้ แต่ว่ากำลังเย็นในขณะที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ จะกล่าวว่าไกลไม่ได้ ฉะนั้น เย็นที่กำลังปรากฏก็ใกล้ ก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ที่รับกระทบสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีตาก็ไม่เห็นแน่ ตาใกล้หรือไกล ถ้าไม่มีหูก็ไม่ได้ยินแน่ แล้วเวลาที่มีเสียงมากระทบหู มีการได้ยินเกิดขึ้น หูใกล้หรือไกล

ไม่ใช่อยู่ไกลเลยสักอย่างเดียว ใช่ไหม โลกนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เกิดขึ้นอยู่ทุกๆ ขณะ แล้วก็ถ้ารู้แจ้งความจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของรูปที่เห็น ของเสียงที่ได้ยิน ของกลิ่นที่กำลังปรากฏ ของรสที่กำลังปรากฏ ของเย็น ร้อน อ่อนแข็งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง โดยที่ไม่มีอภิชฌาโทมนัส ไม่มีความยินดี ยินร้าย ไม่มีการยึดถือสภาพลักษณะที่เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็หมดไป เปลี่ยนไป เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ถ้ากำลังมีสติแล้วล่ะก็ สภาพลักษณะของนามและรูปจะปรากฏทีละอย่าง ฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเยื่อใย ไม่มีความติดข้องเพราะว่ารู้แจ้งในลักษณะของนามและรูปซึ่งกำลังปรากฏใกล้ๆ นี่ ในขณะนี้ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริงแล้วละก็ ย่อมมีการละ เมื่อมีการละ ก็เป็นการดับตัณหาความที่ยินดีพอใจ เห็นผิด ยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นว่าเป็นตัวตน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ นิพพานก็ไม่ไกล เพราะไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ ที่จะต้องเดินทางติดตามไปเพื่อแสวงหา แต่ไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหนมีนามมีรูปเกิดดับอยู่ที่ไหน แล้วมีปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะละคลาย แล้วก็เมื่อละคลายความยินดี ตัณหาความพอใจ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนแล้ว ก็ย่อมประจักษ์สภาพของนิพพาน จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏให้รู้ได้ ที่ใกล้ที่สุดคือทุกๆ ขณะนี้เอง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 13

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 14


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ