สุภากัมมารธีตาเถรีคาถา

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43682
อ่าน  217

สำหรับในเถรีคาถาที่จะยกมากล่าวถึงในที่นี้ คือ สุภากัมมารธีตาเถรีคาถา เป็นเรื่องของพระสุภาภิกษุณีซึ่งเป็นธิดาของนายช่างทอง เป็นผู้ที่พระอุบลวัณณา เถรีแนะนำแล้วได้บรรลุวิชชา ๓ ในวันที่ ๘ นับตั้งแต่วันที่บวช ซึ่งในขณะที่บรรลุนั้นก็ได้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้กล่าวสรรเสริญ สำหรับท่านพระสุภากัมมารธีตาเถรี ท่านก็ได้กล่าวกะญาติของท่านซึ่งชักชวนให้ท่านสึก มีข้อความว่า ท่านทั้งหลายเป็นญาติของเรา แต่ไฉนจึงมาทำเป็นเหมือนศัตรู ชักชวนเราในกามทั้งหลายเล่า คนที่เป็นญาติก็ต้องหวังดีต่อกัน ในเมื่อเป็นญาติก็ควรที่จะพอใจสนับสนุน ในเรื่องของความเจริญในทางธรรม ในเรื่องของการที่จะพ้นทุกข์ต่างๆ แต่ญาติเหล่านั้นมาชักชวนให้สึก เป็นญาติแต่กลับทำตนเหมือนกับศัตรู และท่านกล่าวต่อไปว่า

อาสวะทั้งหลายย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง และท่านกล่าวถึงเมื่อครั้งยังเป็นสาวนุ่งห่มผ้าสอาด ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา แล้วท่านก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจ์เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เมื่อท่านรู้แจ้งอริยสัจจ์เป็นผู้ไม่ประมาทท่าน ก็ละความยินดีอันแรงกล้าในกามทั้งปวง เห็นภัยในกายของตน จึงปรารถนานิพพานเครื่องออกจากกิเลส จะเห็นได้ว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นฆราวาสบางคนก็ยังคงเป็นฆราวาสอยู่ แต่ว่าบางคนไม่มีอัธยาศัยที่จะเป็นฆราวาสต่อไป อย่างพระสุภาภิกษุณีนี้เป็นต้น เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ละความยินดีอันแรงกล้าในกามทั้งปวง เห็นภัยในกายของตนคือในอุปทานขันธ์ ๕ ปรารถนานิพพานเครื่องออกจากกิเลส ท่านละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นาเป็นอันมาก อันเป็นเครื่องรื่นเริงบรรเทิงใจและทรัพย์สมบัติมิใช่น้อย ออกบวช ท่านกล่าวว่า ก็การที่เราออกบวชในพระสัทธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้วด้วยสัทธาอย่างนั้น จะกลับมาสู่กามทั้งหลายอันเราตัดได้แล้วนั้น ไม่สมควรเลย เพราะเราปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีห่วงใย ผู้ใดละทองคำและเงินแล้วยังกลับมารับทองคำและเงินนั้นอีก ไฉนผู้นั้นจะเงยหน้าในระหว่างบัณฑิตทั้งหลายได้เล่า เพราะเงินและทองย่อมไม่มีเพื่อความสงบใจ แม้แก่บุคคลนั้น

เงินและทองคำนั้น เป็นของไม่สมควรแก่สมณะ ไม่เป็นอริยทรัพย์แท้จริง ทองคำและเงินนี้เป็นเหตุให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมาให้เกิดความลุ่มหลง ความคับแค้นเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง ทำให้บาดหมางทะเลาะวิวาท ฆ่ากัน ถูกจำจอง ถูกลงโทษ ความเสื่อมเสียความโศกเศร้าย่อมปรากฏแก่บุคคล ผู้ติดอยู่ในกามทั้งหลาย อันนี้คือผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้ว การเห็น การคิด การดำริ การตรึกในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดๆ ไม่ว่าคำพูดนั้นจะเป็นคำพูดที่ชักชวนอย่างไรก็ตาม ท่านก็มนสิการ แล้วก็สามารถที่จะภาษิตให้คนอื่นได้เห็นอัธยาศัยของท่าน ที่ท่านสะสมอบรมมา

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องรู้สังขารใดๆ ในชีวิตประจำวัน มีอะไรบ้างไหมที่ไม่ใช่สังขารในชีวิตประจำวันนี้ เลือกได้ไหม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหรือว่าเกิดขึ้นเพราะตัวตนบังคับให้เกิด ถ้าใครคิดว่าบังคับก็หมายความว่าผู้นั้นไม่รู้เหตุปัจจัยของสังขารนั้น การคิดนึกก็ดี สติก็ดี โลภะ โทสะ โมหะก็ดี การจำก็ดี การรู้เรื่องของสิ่งต่างๆ ก็ดี เป็นอะไร? เป็นสิ่งที่เกิด ขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ยิ่งจึงจะละจึงจะคลายได้ และเมื่อเจริญเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ผลเกิดเมื่อไรบังคับได้ไหม? ก็ไม่ได้ เกิดในขณะไหนบังคับได้ไหม? จะให้เกิดเฉพาะในขณะที่ฟังธรรม ฟังอย่างอื่นแล้วไม่เกิดได้ไหม? ถ้าเจริญอินทรีย์มาสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด ฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะละเลยสังขารใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ควรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพื่อว่าไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินคำชักชวนอะไร ได้กลิ่น ลิ้มรส หรืออะไรก็ตาม ก็จะได้มนสิการในทางที่แยบคายเพื่อที่จะให้โทษของสังขารนั้นปรากฏ และความเบื่อหน่ายจะได้ตั้งมั่นแล้วก็จะได้หมดสิ้นกิเลส

ยากหรือไม่ยาก ถ้าเข้าใจแล้วความยากนี้ก็ลดลง เพราะว่าไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหาที่จะมาทำให้ไข้วเขวไป ในเรื่องของความต้องการของสิ่งที่ยังไม่ปรากฏบ้าง หรือว่าเข้าใจผิดว่าจะต้องเป็นเฉพาะนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง หรือเข้าใจผิดว่าจะต้องเป็นเฉพาะสถานที่นั้นบ้างสถานที่นี้บ้าง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงไม่สามารถที่จะวางระเบียบหรือว่ากำหนดกฏเกณฑ์ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด ว่าท่านผู้นั้นได้รับธรรมเทศนาอย่างนี้แล้วสามารถที่จะเกิดความสลดหรือ สามารถละความยินดีในนามรูปในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ด้วยนัยของการเทศนาอย่างไร แต่ไม่ใช่วิสัยของบุคคลอื่นที่จะรู้ในอัธยาศัยของผู้อื่นอย่างละเอียดได้

ฉะนั้น จึงไม่สามารถตั้งให้เป็นกฏว่าในวันแรกให้นั่งหรือว่าให้นอน หรือ ให้ยืน หรือให้เดิน หรือว่าให้รู้ทางกายก่อนและให้รู้ทางตาทีหลัง หรือว่าให้รู้ทางหูก่อนและให้รู้ทางใจทีหลัง แต่เป็นเรื่องที่ว่าไม่ว่าในสมัยไหนก็ตาม ก็จะต้องฟังพระธรรมพิจารณาเหตุผลใคร่ครวญอย่างดี เพื่อที่จะอุปการะให้สติเกิด ขึ้น เพราะว่าสติก็เหมือนกับธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย เมื่อบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วใครไปนั่งบังคับ คนนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ว่าธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตาได้เลย

นี่ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจจริงๆ ซึ่งสำคัญที่สุด ถ้าเข้าใจไม่ถูกมีความเห็นไม่ถูกทุกอย่างก็ต้องผิดตามไปหมด ฉะนั้น สำหรับเรื่องของอัธยาศัยก็ใคร่จะให้ท่านผู้ฟังได้ศึกษาด้วยตัวของท่านเองจากพระไตรปิฏก แล้วจะเห็นแต่ละ ชีวิตในพระไตรปิฏกที่มีอัธยาศัยต่างกัน การเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิตและฆราวาส แต่ละคนก็ต่างกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งที่เหมือนกันทั้งหมด เพราะว่าบางทีบางท่านก็อาจจะเคยคิดเคยเข้าใจว่าสภาพของอกุศลนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของการเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะว่ากำลังมีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ฟังเผินๆ ก็รู้สึกว่าจะมีความโน้มเอียงว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าท่านเคยคิดอย่างนั้น ไม่ได้ศึกษา หรือยังไม่ได้ค้นคว้าพิจารณาเหตุผล ในมหาสติปัฏฐานสูตร โลภะ โทสะ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เมื่อสิ่งนั้นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ทำไมสติจึงจะไม่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น

สติย่อมสามารถจะรู้ลักษณะของๆ จริงที่กำลังปรากฏถ้าผู้นั้นเจริญสติ แต่ ถ้าผู้นั้นไม่เจริญสติก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามรูปใดๆ ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนามเป็นรูป เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ สบายต่างๆ เหล่านี้ ผู้เจริญสติรู้สภาพลักษณะของธรรมนั้นตาม ความเป็นจริงว่าลักษณะแต่ละชนิดต่างกัน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย แล้วก็วางกฏเกณฑ์ให้ไม่ได้ด้วย ท่านผู้ฟังที่นี่มีหลายท่าน ทุกท่านจะใช้แบบเดียวกันก็ไม่ได้ จะบังคับให้สติเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ไม่ได้ แล้วสติของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันว่าในขณะนี้ให้มีสติรู้สภาพที่กำลังเห็น หรือว่าสภาพเย็น หรือสภาพที่ได้ยิน หรือสภาพเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ก็เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ ธรรมนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแล้วให้ตรงต่อเหตุผล เพราะว่าถ้าเหตุไม่ตรงผลก็เกิดขึ้นไม่ได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 16


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ