มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสถ์ จูฬโคสิงคสาลสูตร
ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสถ์ จูฬโคสิงคสาลสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักซึ่งสร้างด้วยอิฐในนาทิกคาม ก็สมัยนั้นท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ครั้งนั้นเวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักผ่อนแล้ว เสด็จเข้าไป ยังป่าโคสิงคสาลวัน นายทายบาล (ผู้รักษาป่า) ได้ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ท่าน อย่าเข้าไปยังป่านี้เลย ในที่นี้มีกุลบุตร ๓ ท่านซึ่งเป็นผู้ที่ใคร่ประโยชน์ตนเป็นสภาพอยู่ ท่านอย่าได้กระทำความไม่ผาสุกแก่ท่านทั้ง ๓ นั้นเลย
ท่านพระอนุรุทธะได้ยินนายทายบาลกล่าวห้ามพระผู้มีพระภาค ดังนั้น ก็บอกกับนายทายบาลว่า อย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของท่านเสด็จมาแล้ว แล้วท่านพระอนุรุทธะก็ไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่อยู่ บอกให้รีบไปต้อนรับพระผู้มีพระภาคองค์หนึ่งปูอาสนะ องค์หนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคทรงล้างพระบาท ประทับบนอาสนะที่ปูถวาย ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามถึงชีวิตในป่าว่า อดทนได้ไหม บิณฑบาตลำบากไหม แล้วต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามต่อไปว่า ยังพร้อมเพรียงกันชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ ต่างรูปต่างก็สรรเสริญกันแล้วก็กราบทูลว่า กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันจริงแต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน อัธยาศัยอย่างเดียวกันถึงจะเข้ากันได้อย่างนี้เหมือนน้ำนมกับน้ำ ถ้าเกิดมีคนที่ช่างพูดช่างเจรจาแล้วไม่ชอบที่จะอยู่โดยการไม่พูดไม่คุยไม่สนทนา ก็คงจะไม่พร้อมเพรียงกันอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรส่งตนไปแล้วอยู่หรือ ท่านพระอนุรุทธะก็กราบทูลว่า ผู้ใดกลับจากบิณฑบาตแต่บ้าน ก่อน ผู้นั้นย่อมปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ ท่านผู้ใดกลับจากบิณฑบาตทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉันหากประสงค์ก็ฉัน ถ้าไม่ประสงค์ก็ทิ้งเสียในที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ท่านผู้นั้นก็เก็บอาสนะ เก็บน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงภัตร ท่านผู้ใดเห็นหม้อน้ำฉันน้ำใช้หรือหม้อชำระว่างเปล่า ท่านผู้นั้นก็เข้าไปตั้งไว้ ถ้าเหลือวิสัยของท่านก็กวักมือเรียกรูปที่สองแล้วช่วยกันยกเข้าไปตั้งไว้ พวกข้าพระองค์ไม่เปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย เรื่องอย่างนี้ไม่พูดก็ทำได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องบ่นหรือว่าเดือดร้อนโวยวาย ฉะนั้น เรื่องของอัธยาศัยเรื่องของอินทรีย์จะเห็นได้ทีเดียวว่า พระผู้มีพระภาคขัดเกลามาก ขัดเกลาเพื่อให้วันหนึ่งพุทธบริษัททั้งหลายสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์
และท่านพระอนุรุทธะก็ได้กราบทูลต่อไปว่า และทุกๆ วันที่ ๕ พวกข้าพระองค์นั่งสนทนาธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่งพระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็น ผู้ไม่ประมาท มีความเพียรส่งตนไปแล้วอยู่ด้วยประการฉะนี้แล นี่คือท่านที่มีอัธยาศัยอย่างเดียวกัน แล้วถ้าใครยังไม่เป็นอย่างท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละ แล้วก็เข้าใจผิดพยายามไม่พูดแทนที่จะเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น เวลาที่มีสติ วจีทุจริตไม่เกิด เกิดไม่ได้เพราะสติวิรัติ เพียงแค่ที่สติวิรัติทุจริตกรรมก็เป็นประโยชน์มากแล้วที่ทำให้ไม่กล่าววจีทุจริต แต่ในขณะที่วิรัตินั้นมีสติรู้ลักษณะของนามและรูปด้วย แม้แต่ขณะที่วิรัตินั้นก็เป็นสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าบังคับ เพราะว่าบางคนพอไปในที่จำกัดไม่พูดเลย กลับมาพูดใหญ่ทุกเรื่องเลย เรื่องที่ไม่ควรพูดก็พูด วาจาที่ไม่เหมาะสมก็พูด เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ก็พูด
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...