ขณะกำลังตั้งใจฟัง เป็นการเพิ่มอภิชชาขึ้นด้วยใช่ไหม
ถ. ถ้าอย่างนั้น ขณะกำลังตั้งใจฟังอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นการเพิ่มอภิชชาขึ้นด้วยใช่ไหม
สุ. อภิชชา ใช่ไหมคะ กำลังฟัง ฟังธรรมเป็นกุศลหรืออกุศลคะ? เป็นกุศล เพราะฉะนั้นไม่ใช่อภิชชา เกิดพร้อมกันไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่สติปัฏฐานเป็นกุศลขั้นการฟัง ถ้าโดยปริยัติโดยอภิธรรมก็เป็น มหากุศลญานสัมปยุตต์ เวลาที่เจริญสติปัฏฐานก็เป็น มหากุศลญานสัมปยุตต์ แต่อารมณ์ต่างกัน เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ ในขณะนั้นเป็นมหากุศล เป็นญาณสัมปยุตต์จริง แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของได้ยิน และไม่ใช่การรู้ลักษณะของเสียง เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจยังเป็นตัวตนอยู่ เป็นกุศลจริงแต่เป็นกุศลขั้นการฟัง ไม่ใช่เป็นกุศลที่ละความเห็นผิดในนามและรูปที่กำลังปรากฏ ฉะนั้น ก็จะต้องแยกด้วยถ้าเป็นกุศลขั้นการฟัง ก็ต้องเป็นกุศลขั้นการฟัง ไม่ใช่กุศลในขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังฟังก็เจริญสติปัฏฐานได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏได้ แต่ว่าใครจะรู้แล้วหรือยัง นั่นอยู่ที่ว่าเริ่มเจริญสติมากน้อยเท่าไรแล้ว
เวลาว่างของฆราวาสก่อนที่จะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ฆราวาส ทำอะไรบ้างคะเวลาว่าง เรื่องเพลิดเพลินของฆราวาสมีมากไม่ใช่น้อยเลย แล้วแต่อัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในร่ม นอกบ้าน กลางแจ้ง ก็มีเรื่องการที่ฆราวาสจะเพลิดเพลินไป จะทำให้จิตใจเบิกบานสนุกสนาน คลายความเคร่งเครียดจากการ ประกอบธุรกิจการงานต่างๆ นั่นเป็นเรื่องการพักผ่อนของฆราวาส แต่ว่าในเพศของบรรพชิตเวลาว่าง ท่านไม่สามารถที่จะพักผ่อนหาความสนุกสนานเพลิดเพลินได้เช่นเดียวกับเพศของฆราวาสเลย ตามพระวินัยบัญญัติ เพราะฉะนั้น ท่านจะทำอะไรเวลาที่ท่านว่าง เวลาที่ท่านบิณฑบาตท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านฉันภัตตาหารท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านประกอบกิจการงานท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านฟังธรรมท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ที่ท่านแสดงธรรมท่านก็เจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ยังมีเวลาว่างอีกพระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลก พระธรรมงามพร้อมทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ทั้งศีลซึ่งเป็นข้อประพฤติทางกาย ทางวาจา ตามปกติในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งสมาธิและปัญญา
และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะมาบวชในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนั้นท่านเหล่านั้นก็เคยเจริญสมาธิ อานาปานสติ ได้ฌาน ได้อรูปฌานก็มี ท่านเคยทำสมาธิกันมาก่อนแล้ว แล้วอัธยาศัยของท่านน้อมไปในเรื่องของสมาธิก็มี ฉะนั้นในมหาสติปัฏฐาน ภิกษุนั่งคู้บัลลังก์ หมายความว่าเป็นอัธยาศัยที่ท่านได้เคยเจริญ ได้เคยฝึกหัด เคยอบรมในเรื่องของการเจริญอานาปานสติ ในเรื่องของการทำสมาธิมาแล้ว ฉะนั้นเวลาที่ท่านมีเวลาว่าง ใจของท่านก็น้อมไปในเรื่องของสมาธิซึ่งเป็นอัธยาศัยของท่าน พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบังคับว่าไม่ให้ทำ แต่พระองค์ทรงรู้แจ้งว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นโมหะ ของสัตว์โลกแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง แม้ฌานจิตก็ไม่เที่ยง ผู้ใดจะรู้ ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ได้ว่าฌานจิตนั้นไม่เที่ยง ถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย เพียงแต่เจริญความสงบ เคยทำฌานที่จะให้เกิดความรู้ว่าฌานจิตไม่เที่ยงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ผู้ที่จะรู้ว่าฌานจิตไม่เที่ยงได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ฌานจิตจึงเป็น จิตตานุปัสสนา
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...