บุคคลผู้มีอุปการะมาก

 
chatchai.k
วันที่  6 ก.ย. 2565
หมายเลข  43708
อ่าน  311

สมัยนี้ก็มีการฟังธรรม สมัยโน้นก็มีการฟังธรรม ผู้ใดสามารถที่จะทำ ให้บุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ บุคคลนั้นก็เป็นบุคคลผู้มีอุปการะมาก นั่นขั้นหนึ่ง ซึ่งในครั้งพุทธกาลก็จะเห็นได้ว่ามีพระสาวกมากทีเดียว ที่ท่านทำให้พราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือพวกเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีความเห็นผิดได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะฉะนั้น ท่านพระสาวกเหล่านั้น ก็เป็นผู้ที่มีอุปการะมากแก่พวกเดียรถีย์ปริพาชก หรือพราหมณ์ที่มีความเห็นผิดแล้วก็เกิดความเห็นถูกขึ้น นั่นเป็นประการหนึ่งส่วนอีกประการหนึ่ง ผู้ใดได้รู้ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาจากบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่มีอุปการะมาก

ท่านผู้ฟังคงจะได้ทราบเรื่องท่านพระสารีบุตร ท่านมีความเคารพในท่าน พระอัสชิ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้ท่านได้ฟังธรรมและได้ดวงตาเห็นธรรม ก็อยู่ในประการที่ว่าเป็นผู้ที่ทำให้ท่านได้เห็นทุกข์ ได้เห็นทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกข นิโรธคามินีปฏิปทา นี่ก็เป็นบุคคลที่มีอุปการะมากอีกบุคคลหนึ่ง ส่วนอีกบุคคลหนึ่งนั้นก็เป็นผู้ที่เมื่ออาศัยบุคคลนั้นแล้ว ทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ คือถึงความสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงอุปการะแก่พระสาวก ไม่ใช่เพียงให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น แต่ยังอุปการะให้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ทีเดียว

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา เตลุกานิเถระคาถา มีข้อความว่า เรามีความเพียร ค้นคิดธรรมะอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ จึงได้ถามสมณะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลก เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ใครเล่าเป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจะปฏิบัติธรรมของใคร ซึ่งเป็นเครื่องให้รู้แจ้งปรมัตถ์ เราเป็นผู้มีความคด คือกิเลสอันไปแล้วในภายใน เหมือนปลาที่กินเหยื่อ ฉะนั้น เราถูกผูกด้วยบ่วงใหญ่คือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติยาสูร ถูกผูกด้วยบ่วงของท้าวสักกะ ฉะนั้น เรากระชากบ่วง คือกิเลสนั้นไม่หลุด จึงไม่พ้นไปจากความโศกและความร่ำไร ใครในโลกจะช่วยเรา ผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้น ประกาศทางอันเป็นเครื่องตรัสรู้ให้เรา เราจะรับสมณะหรือพราหมณ์คนไหนไว้เป็นผู้แสดงธรรมอันกำจัดกิเลสได้ จะปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปปราศจากชราและมรณะของใคร จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย ประกอบด้วยความแข่งดีเป็น กำลัง ฉุนเฉียว ถึงความเป็นจิตกระด้างด้วยใจเป็นเครื่องรองรับตัณหา สิ่งใดมีธนูคือตัณหาเป็นสมุฏฐาน มีประเภท ๓๐ เป็นของมีอยู่ในโลก เป็นของหนัก ทำลายหทัยแล้วตั้งอยู่ ขอท่านจงดูสิ่งนั้นเถิด

การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศร คือความดำริผิดให้อาจหาญแล้ว เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้น หวั่นไหวอยู่ เหมือนใบไม้ที่ถูกลมพัด ฉะนั้น กรรมอันลามกตั้งขึ้นแล้วในภายในของเรา ย่อมพลันให้ผล กายอันเนื่องด้วยสัมผัส ๖ เกิดแล้วในที่ใด ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ เราไม่เห็นหมอที่จะถอนลูกศรของเราได้เลย หมอไม่สามารถจะเยียวยาเราด้วยศาสตราอย่างอื่นต่างๆ ชนิด ใครไม่ต้องด้วยศาสตรา ไม่ทำให้ร่างกายเราเป็นแผล ไม่เบียดเบียนร่างกายเราทั้งหมด จะถอนลูกศรอันเสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้ ก็บุคคลผู้นั้นเป็นใหญ่ในธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ลอยโทษอันเป็นพิษ เสียได้ ช่วยยกเราผู้ตกไปในห้วงน้ำ คือสังสาระอันลึกขึ้นสู่บกได้ เราเป็นผู้จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ อันเป็นที่สุดแห่งธุลี เป็นห้วงน้ำลาดไปด้วยมายา ริษยาความแข่งดี และความง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีใครจะนำออกได้

ความดำริทั้งหลายอันอาศัยซึ่งราคะ เป็นเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ มีธรรมคืออุทธัจจะ เป็นเสียงคำรน มีสังโยชน์เป็นผล ย่อมนำบุคคลผู้มีความเห็นผิดไปสู่สมุทรคืออบาย กระแสตัณหาทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาเพียงดังเถาวัลย์ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านี้ได้ ใครเล่าจะตัดตัณหาอันเป็นดังลดาวัลย์นั้นได้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทำฝั่งอันเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นเถิด อย่าให้กระแสตัณหาอันเกิดแต่ใจ พัดท่านทั้งหลายไปเร็วพลัน ดังกระแสน้ำพัดต้นไม้ อันตั้งอยู่ริมฝั่ง ฉะนั้น

พระศาสดาผู้มีอาวุธคือปัญญา ผู้อันหมู่ฤาษีอาศัยแล้ว เป็นที่พึ่งแก่เราผู้มีภัยเกิดแล้ว ผู้แสวงหาฝั่งคือนิพพาน จากที่มิใช่ฝั่ง พระองค์ได้ประทานบันไดอันนายช่างทำดีแล้ว บริสุทธิ์ทำด้วยไม้แก่นคือธรรมะ เป็นบันไดมั่นคงแก่เราผู้ถูกกระแสตัณหาพัดไปอยู่ และได้ตรัสเตือนเราว่า อย่ากลัวเลย เราได้ขึ้นสู่ปราสาทคือสติปัฏฐานแล้ว พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ ผู้ยินดี ในร่างกายของตน ที่เราได้สำคัญในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร ก็เมื่อใดเราได้ เห็นทางอันเป็นอุบายขึ้นสู่เรือ เมื่อนั้นเราจักไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ได้เห็นท่า คืออริยมรรค์อันอุดม พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางอันสูงสุด เพื่อไม่ให้บาปธรรมทั้งหลาย มีทิฏฐิและมานะเป็นต้น ซึ่งเป็นดังลูกศรเกิดขึ้นในตน เกิดแต่ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้ากำจัดโทษอันเป็นพิษ ได้ทรงบรรเทากิเลส เครื่องร้อยกรองของเรา อันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน อันตั้งอยู่แล้วในใจของเรา ตลอดกาลนาน นี่เป็นผู้ที่รู้เรื่องกิเลสของตนเอง เห็นภัยของกิเลสที่ตนมีด้วย แล้วก็เป็นผู้ที่ใคร่จะได้หมดจากกิเลส ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ท่านแสดงไว้ในครั้งโน้น และเราก็พอจะเปรียบเทียบกับตัวเราได้ว่า เราเป็นผู้ที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับถูกพัดไปด้วยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว แล้วเมื่อมีความเห็นผิด ก็ย่อมมีความหวั่นไหว มีความลังเล ถูกกิเลสต่างๆ พัดพาไป แต่ว่าถ้าขึ้นสู่ปราสาทที่มั่นคงคือ สติปัฏฐาน ก็เหมือนกับที่ท่านพระเถระได้กล่าวว่า ท่านได้ถูกยกขึ้นจากน้ำที่ท่านตกลงไป ด้วยบันไดที่มั่นคง

นี่คืออานิสงส์ของการฟัง ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ฟังให้ได้เหตุผล ให้ได้ความเข้าใจ ถึงแม้ว่าจิตใจจะเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ มุ่งลาภ มุ่งอะไรก็ตามแต่ ทำให้เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่เพราะเหตุว่า ได้ฟังเนืองๆ ได้ฟังบ่อยๆ ก็สามารถที่จะมนสิการพิจารณารู้ลักษณะของธรรม ที่กำลังปรากฏนั้นตามความเป็นจริงได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 28


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ