ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่บังคับให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง
ขออ่านจดหมายจากท่านผู้ฟัง บ้านเลขที่ ๗๔๐/๒ ซอยเกศจำเริญ วัดท่าพระ บางกอกใหญ่ ธนบุรี
สำหรับข้อความในจดหมายนี้มีว่า ไม่ได้มาฟังบรรยายเสียนานเพราะป่วยด้วยวิงเวียนศีรษะ อาจเป็นเพราะตรากตรำเรียนพระอภิธรรมในรอบค่ำ และใกล้สอบด้วย ประกอบกับร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงจึงป่วย แล้วพลอยทำให้พลาดหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการเรียน การสอบและการฟังธรรม เพราะรู้สึกว่าร่างกายอยากจะพักหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังเคราะห์ดีที่ไม่เสียเวลาไปหมด ในระหว่างที่พักอยู่นั้นยังมีเวลาที่สติจะเกิดขึ้นบ้าง
ต่อจากนี้ก็จะขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง ที่เป็นข้อความโดยตรงมีว่า
...แต่สติที่ดิฉันว่านี้ คงไม่ใช่สติตามความหมายของอาจารย์ อาจจะเป็นเพียงการรู้สึกตัวขั้นหนึ่งกระมัง อย่างเช่น ตอนป่วยนี้ด้วยความเสียใจเลยลาหยุดงานและได้ไปต่างจังหวัด พอดีที่ข้างบ้านเขาแก้บนละครชาตรี ก็เลยประชดวิบากของตัวด้วยการดูละคร ดูไปๆ พอรู้สึกตัวก็ใจหาย เคยท่องพระอภิธรรมอยู่หยกๆ กลับต้องมานั่งดูละคร
สุ. ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ขณะที่คิดจะประชดก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นนาม เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกจริงๆ ในขณะนั้นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะคิดอะไร ไม่ว่าจะคิดประชด ไม่ประชดอย่างไรก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นสภาพตัวของท่านจริงๆ เป็นนามเป็นรูปที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ทำไมบางวันไม่ประชด แต่ว่าบางวันประชด บังคับให้ประชดทุกๆ วันได้ไหม หรือว่าไม่ให้ประชดสักวันเดียว จะบังคับได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชนิดใดก็ตาม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสติบางเวลาหรือว่าบางโอกาส หรือว่าเวลาที่ไม่ประชดจึงจะเจริญได้ หมายความว่าผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เว้นเลย จะต้องรู้จักตัวเอง นามและรูปที่เกิดกับตนเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมานะ ความถือตน ความสำคัญตน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ โทมนัส แล้วทำสิ่งซึ่งไม่อยากจะทำ ที่ใช้คำว่าประชดนี้ก็คงจะหมายความว่า ทำสิ่งซึ่งไม่คิดจะทำ หรือว่าไม่อยากจะทำ แต่เพราะไม่สบาย เพราะเป็นวิบากที่ได้รับ ก็เลยประชดเสียโดยการที่ไปดูละครชาตรี
ผู้ที่เจริญสติต้องรู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น สติขัดเกลาอกุศลใดๆ ก็ตาม ซึ่งมีตั้งแต่อย่างหยาบไปจนกระทั่งถึงอย่างกลาง และปัญญาที่เกิดกับสติปัฏฐานนั้นก็ละกิเลสละเอียดทุกขณะที่รู้สภาพลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงด้วย
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังท่านอื่นจะเคยประชดหรือว่าไม่เคยประชดก็ตาม ขอให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง แล้วเป็นใจของท่านจริงๆ ที่ยังไม่หมดความต้องการความเพลิดเพลินทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นสมุจเฉท ท่านอาจจะสนใจในพระอภิธรรม ประพฤติปฏิบัติตามคร่ำเคร่ง แต่ถ้ากิเลสยังไม่หมดเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้ออยู่ ก็ย่อมมีโอกาสจะเกิดได้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ในขณะนั้นประชดอะไร แต่ว่าเป็นเรื่องที่ท่านไม่เคยสำรวจจิตใจของตัวเองว่า ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังเพลิดเพลินพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงตามปกติ ไม่ว่าจะต่อหน้าลับหลังใครอยู่ที่ไหนก็เป็นจิตของท่านเอง ความล้ำลึกของจิตที่สะสมอกุศลมามากมายนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้ดียิ่งกว่าตัวท่าน
เพราะฉะนั้น เมื่อยังเพลิดเพลินไปทางตาก็เป็นเหตุที่ทำให้ท่านรู้สึกเหมือนกับว่าท่านประชด แต่ว่าความจริงเป็นเพราะโลภะยังต้องการความเพลิดเพลินอยู่
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่บังคับให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง คร่ำเคร่งเสียจนกระทั่งไม่รู้จักตัวเอง ท่านรู้จักนามรูปอะไรที่จะละความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าโลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่าท่านพยายามบังคับ พยายามคร่ำเคร่ง ซึ่งไม่เป็นสัมมาสติ ไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่บังคับไม่ให้ไปดูอะไรเลย ดูหนังไม่ได้ ดูละครชาตรีไม่ได้
โลภะเกิดขึ้นแล้วดับไหม หรือว่ามีโลภะตลอดเวลา โทสะเกิดขึ้นแล้วดับไหม ไม่ใช่ว่ามีโลภะที่เป็นตัวตนที่ตั้งอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโลภะความต้องการ ความชอบหรือความพอใจ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รู้สภาพความเป็นจริงของแม้โลภะความชอบใจที่เกิดขึ้น แล้วก็ประจักษ์ความไม่เที่ยง ที่โลภะนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ตัวตน จึงจะละความที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้
คำว่า ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่ประจักษ์ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของโลภะ ของโทสะ ของนาม ของรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว จะชื่อว่ารู้ทุกข์ไหม อะไรเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยงของนามและรูปเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ทุกข์อย่างอื่นที่จะต้องไปทรมานตัวให้ลำบาก แต่จะต้องเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติมากขึ้น ละคลายความไม่รู้ความสงสัยมากขึ้นจนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป หมดความสงสัยในลักษณะที่ไม่เที่ยง จึงจะชื่อว่าท่านประจักษ์สภาพที่เป็นทุกข์
การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่สุด ถ้าท่านยิ่งมีปัญญา ปัญญานั้นจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ ไม่มีความต้องการแอบแฝงให้ทำสิ่งผิดปกติขึ้น นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่เรียกว่า รู้จริง รู้แจ้ง รอบรู้ รู้ทั่ว แล้วจึงจะละได้
การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่สุด ถ้าท่านยิ่งมีปัญญา ปัญญานั้นจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ ไม่มีความต้องการแอบแฝงให้ทำสิ่งผิดปกติขึ้น นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่เรียกว่า รู้จริง รู้แจ้ง รอบรู้ รู้ทั่ว แล้วจึงจะละได้
ได้รับฟังคำปรารภจากท่านผู้ฟังที่รู้สึกท้อใจว่า วันไหนหนอจึงจะได้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ชีวิตนี้สั้นไม่เกิน ๑๐๐ ปี และอยู่กันมานานแล้ว ภพชาติในอดีตก็มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ชาติข้างหน้าก็คงจะอีกยืดยาวต่อไปอีกนานเพราะฉะนั้น ก็รู้สึกว่าเมื่อไรหนอจึงจะได้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง
ไม่มีอะไรที่จะให้เหตุผลดียิ่งกว่าพระธรรมวินัย ที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นความจริงที่ว่า จะช้าหรือจะเร็วขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่ใช่ปลอบใจให้เร่งและให้บรรลุในชาตินี้ได้โดยที่เหตุไม่สมควรแก่ผล ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล พระผู้มีพระ-ภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอะไรที่จะปลอบใจคน ชักชวนให้มาหาพระธรรมวินัยของพระองค์ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีความรู้สึกในทำนองนี้ ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นาวาสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นจิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรม อิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมมรรคมีองค์ ๘ และมีข้อความต่อไปว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปประมาณเท่านี้ วานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้น มีความรู้แต่ว่าสึกไปแล้วๆ โดยแท้แล แม้ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ หารู้ไม่ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ วานนี้สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่า สิ้นไปแล้วๆ ฉันนั้น เหมือนกันแล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือที่เขาผูกด้วยตรวนแล่นไปในสมุทร จมลงในน้ำสิ้น ๖ เดือนโดยเหมันตสมัย เขาเข็นขึ้นบก ตรวนเหล่านั้นถูกลมและแดดกระทบแล้ว ถูกฝนตกรดแล้ว ย่อมผุและเปื่อยโดยไม่ยากเลย ฉันนั้น เหมือนกันแล เคยท้อใจไหม ถ้าเคยท้อใจก็ลองจับด้ามมีดดู ด้ามไม้ใหญ่ๆ แล้วก็จับไว้ทั้งวัน กำไว้ทั้งวันก็ยังไม่เห็นเลยว่าสึก พรุ่งนี้จับอีกก็ยังเหมือนเดิม จะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะระลึกได้มากหรือน้อยก็เป็นนิสัยที่จะเป็นผู้สมบรูณ์ด้วยสติและรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ซึ่งมีแต่ประโยชน์ ไม่เป็นโทษเลย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นหนทางเดียวจริงๆ ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปรารถนาสักเท่าไร หวังไป คอยไปกี่ภพ กี่ชาติ ถ้าผู้นั้นไม่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่มีหนทางที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นนามหรือจะเป็นรูปก็ตาม ขอให้ทราบว่า ท่านมีศรัทธาในพระรัตนตรัย เพราะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะได้ฟังน้อมใจเชื่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดก็ตามเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น ถ้าศรัทธาในพระรัตนตรัย บูชาด้วยการปฏิบัติ หมายความว่าอะไร หมายความว่า ขณะใดที่มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะใด ในขณะนั้นเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาด้วยการเจริญสติ เป็นการบูชาด้วยศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคก็ตาม สาวกของพระผู้มีพระภาคก็ตาม ไม่ได้ปรารถนาอะไรจากผู้ฟังเลย นอกจากประโยชน์ของผู้ฟัง
ทรงสอนเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเพื่อประโยชน์ของใคร เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่การเจริญสติ และถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีศรัทธาก็หมายความว่า มีศรัทธาเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของสิ่งที่ปรากฏ จึงจะชื่อว่าเชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้จริงๆ ว่า กำลังเห็นขณะนี้ก็เกิดดับ สีที่ปรากฏขณะนี้ก็เกิดดับ เพราะตรัสรู้อย่างไรก็แสดงธรรมอย่างนั้น จักขุวิญญาณไม่เที่ยง รูปารมณ์ไม่เที่ยง ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกไม่รู้ แต่เพราะรู้อย่างไรก็แสดงอย่างนั้น จึงทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจและเชื่อในการตรัสรู้ เมื่อมีสติระลึกรู้ ขณะนั้นก็มีศรัทธาในพระรัตนตรัย แล้วก็เป็นปฏิบัติบูชาด้วย
ขุททกนิกาย เถรคาถา อานันทเถรคาถา ภาษิตหรือคาถาของท่านพระอานนท์ ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ด้วยการสดับ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น นี่เป็นความไพเราะของภาษิตของท่านที่ได้รู้แจ้งธรรมว่า เมื่อศึกษาธรรมแล้วก็ควรที่จะปฏิบัติธรรมด้วย เป็นผู้ที่เล่าเรียนมามาก และอาจจะดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อย แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่ท่านพระอานนท์ เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น ไม่ประจักษ์ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง แต่รู้ลักษณะของนามและรูปตามที่ได้สดับหรือตามที่ได้ฟัง ก็เหมือนกับคนตาบอดถือดวงไฟ แต่ไม่เห็นแสงไฟ
นี่เป็นภาษิตของท่านพระเถระที่อุปการะเกื้อกูลให้ท่านมีศรัทธาในการเจริญสติ หรือว่าให้สติของท่านเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ แม้เพียงขณะเดียวก็มีประโยชน์ สติขณะเดียว จะมีสติขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่เย็นกระทบ ขณะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ขณะที่กำลังคิดนึก แต่ละขณะนั้นมีประโยชน์ทั้งสิ้น อย่าเป็นผู้ประมาทกุศล เพราะเหตุว่ากุศลแต่ละขณะที่ได้บำเพ็ญนั้น วันหนึ่งก็ย่อมจะมีปริมาณมาก ทำให้ละคลายกิเลสได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...